ทำไมถึงเป็นไตรกีฬา ?
ไตรกีฬา..ไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย ความจริงต้องบอกว่า กีฬา..ไม่เคยอยู่ในหัวผมเลย ด้วยซ้ำ
แต่ด้วยเรื่องสุขภาพกับเรื่องประทับใจเหตุการณ์หนึ่งในช่วงปลายปี 2560 [ก่อนเริ่มไตร วัยห้าสิบกว่า] ก็ทำให้ผม ซึ่งมีพื้นฐานกีฬาเพียงเรื่องเดียวที่พอจะโม้ในหมู่เพื่อนได้ คือ ‘ผมว่ายน้ำอาทิตย์ละสองสามวัน ครั้งละกิโลถึงกิโลครึ่งไปเรื่อย ๆ ไม่หยุด แต่ช่วงงานยุ่ง ๆ ก็หยุดไปเป็นเดือน ๆ’ ต้องกลับมาคิดเรื่องออกกำลัง..เพิ่มขึ้น
แล้วคำว่า ไตรกีฬา ก็ผ่านเข้ามาในชีวิต
เวลาพูดถึงไตรกีฬา เรามักจะนึกถึง คนเหล็ก หรือ Ironman นักกีฬาที่ทั้งล่ำทั้งอึด แข่งขันกันเป็นวัน ๆ แต่ความจริงแล้ว ไตรกีฬามีหลายระยะ ที่แข่งขันกันบ่อย ๆ ตามรูปข้างล่าง
ถ้าดูระยะสั้นที่สุด (ความจริงมีระยะสั้นกว่านี้อีก รายละเอียดตามเว็บใต้รูป) คือ ระยะ Sprint หรือระยะสมัครเล่น ก็ว่ายน้ำแค่ 750 ม. ปั่นจักรยาน 20 กม. และวิ่งอีก 5 กม. เท่านั้น มันไม่ได้ไกลเกินฝัน สำหรับนักกีฬามือใหม่อย่างผม ตอนตัดสินใจลงแข่งรายการแรก คือ สงขลาไตรกีฬา [สงขลาไตรกีฬา ครั้งที่ 2 2561: สงขลา] เมื่อ 8 เมษายน 2561
ข้อดีของไตรกีฬา
แบ่ง ๆ กันไป
เป็นการออกกำลังอย่างละนิดอย่างละหน่อย ทำให้สามารถออกกำลังได้นานขึ้น และที่สำคัญ การบาดเจ็บก็จะเกิดน้อยกว่า เพราะเหตุผลสำคัญ คือ ใช้กล้ามเนื้อคนละกลุ่มกัน ลองวาดภาพ นักวิ่งระยะ half marathon ระยะทาง 21.1 กม. กับนักไตรกีฬาระยะ sprint อาจจะใช้เวลาประมาณ 2 ชม. ใกล้เคียงกัน แต่ไตรกีฬา กล้ามเนื้อจะถูกจิกหัวใช้และบาดเจ็บน้อยกว่า
มีทางเลือก
ไม่จำเจ ถ้าเราออกกำลังเพียงอย่างเดียว เกิดมีข้อขัดข้องอะไร วันนั้นก็ไม่ได้ออกกำลังแล้ว เช่น ฝนตกหนัก (โดยเฉพาะทางใต้) ก็ปั่นจักรยานยาก วันจันทร์สระว่ายน้ำปิด ก็ไม่รู้จะไปว่ายที่ไหน หรือวิ่งมากจนเจ็บเข่า ก็อดวิ่ง พอได้ออกกำลังหลายวิธี ก็ได้สลับแต่ละวัน ไม่ต้องหยุดออกกำลัง ช่วยให้ได้ประโยชน์ตามหลัก cross training อีกด้วย
ไม่เสียหน้า
เวลาแข่งไตรกีฬา เหนื่อยเมื่อไรก็หยุดพักโดยไม่รู้สึกอายใคร ก็เขาทำกันทั้งนั้น ว่ายไม่ไหวก็เกาะทุ่นทำใจ ปั่นขึ้นเนินไม่รอดก็ลงเข็น วิ่งไม่ไหวก็เดินชมวิวข้างทาง หรืออาจจะแวะพักยาว แวะยิงกระต่าย/เก็บดอกไม้ข้างทาง แวะกินข้าว ขนม น้ำตามจุดพักอย่างเอาจริงเอาจัง ต่างจากเวลาไปแข่งวิ่งมาราธอนหรือปั่นจักรยานอย่างเดียว เวลานั่งพักหรือลงเข็น มันเขิน ๆ พิกล
No comments:
Post a Comment