2020-12-19

O: ไตรกีฬานาวี ปี 3/1 2563: ระนอง - Navy Triathlon Season 3/1 2020: Ranong

O: ระยะโอลิมปิก - Olympic distance

ไตรกีฬานาวี ปี 3/1 2563 - Navy Triathlon Season 3/1 2020
ระนอง - Ranong


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
ประชาสัมพันธ์การแข่งขันทาง Facebook ก่อนล่วงหน้าเกือบ 2 เดือน แต่ยังไม่กำหนดวันแข่ง กำหนดวันแข่ง แจ้งรายละเอียดการแข่งขัน และเปิดให้สมัคร online ประมาณ 1 เดือนก่อนงาน นับว่ากระชั้นมาก ถ้าไม่ติดตามข่าว ก็สมัครไม่ทัน เพราะปิดรับสมัครภายในวันเดียว แต่ข้อมูลการแข่งขันที่แจ้งก่อนล่วงหน้าละเอียดดีมาก
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยและภาคอังกฤษชัดเจนได้ยินทั่วถึงบริเวณที่จัดงานและเป็นกันเองดี ทั้งที่สนามกีฬาและท่าเทียบเรือ แต่ควรมีแผนผังแสดงพื้นที่จัดงาน เช่น จุดลงทะเบียน ลานจอดรถ อาหาร สุขา สินค้า ติดตั้งไว้หลายๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าออก ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นได้ชัดเจน 
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
สถานที่จอดรถบริเวณลานหน้าศาลหลักเมืองด้านหลังสนามกีฬา และท่าเทียบเรือ พื้นที่กว้างขวางเพียงพอและเป็นจุดเดียวทั้งสองบริเวณดีมาก ต้องชื่นชมการอำนวยความสะดวกของกำลังพลที่มาให้บริการและดูแลความเรียบร้อยที่ทั้งเป็นระบบและสุภาพมาก จุดบริการรถรับส่งมีป้ายและประชาสัมพันธ์ชัดเจนดีมาก 
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
มี clip รายละเอียดภาคไทยแยกตามประเภทการแข่งขันให้ดูเองก่อนการแข่งขันล่วงหน้าหลายวันทำได้ดีมาก ในวันลงทะเบียนมีการชี้แจงรายละเอียดเส้นทางการแข่งขัน จุดเสี่ยงและกฏกติกาต่าง ๆ ดีมากทั้งภาคไทย ภาคอังกฤษ สามารถรับชมได้ทาง Facebook Live โดยส่งคำถามได้ทาง inbox อีกด้วย 
การลงทะเบียน การจัดการ
การจัดการลงทะเบียนตามมาตรการป้องกันโควิด โดยให้จองช่วงเวลาลงทะเบียนก่อนล่วงหน้าและกำกับให้เป็นจริงตามนั้นทำได้เป็นระบบ รวดเร็วดีมาก การใช้พื้นที่จัดงานทำได้ดี บริการต่าง ๆ ไม่ต้องรอคิวนานเหมือนทุกครั้ง แต่ส่วนตัวแล้ว ผมก็ยังไม่ชอบพลุประทัดสร้างควันในพิธีเปิดปิด ไม่ดีต่อสุขภาพนักกีฬาเลย
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
การกำหนดให้นักกีฬาทุกคนรวมทั้งมืออาชีพต้องใช้ buoy เพราะเส้นทางว่ายน้ำเป็นชะวากทะเลที่มีกระแสน้ำ แสดงถึงการคำนึงถึงความปลอดภัยในการจัดการแข่งขันดีมาก เส้นทางมีแนวทุ่นชัดเจนและมีทีมดูแลความปลอดภัยดีมาก การปล่อยตัวแยกเป็น wave และแต่ละ wave ให้นักกีฬาทะยอยลงน้ำสามารถลดความหนาแน่นของนักกีฬาช่วงแรกได้ดี 
ความปลอดภัย-จักรยาน
เส้นทางปั่นถึงจะไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด แต่นับว่าควบคุมและปิดกั้นการจราจรได้ดี เส้นทางช่วงท่าเทียบเรือเข้าเมืองค่อนข้างแคบ ขณะแข่งขันมีรถบรรทุกขับช้าแทรกเข้ามาบ้าง นักกีฬาต้องใช้ความระมัดระวังเอง ส่วนเส้นทางบนถนนเพชรเกษมที่ใช้วิธีชิดเกาะกลางถนน ถนนโล่งและปลอดภัยดีมาก เส้นทางสะอาดเรียบร้อย ซ่อมแซมถนนชำรุดก่อนงานอย่างรวดเร็ว มีป้ายแสดงจุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่คอยโบกธง กำกับเส้นทางอย่างดีตลอดเส้นทาง แต่เส้นทางช่วงในเมือง การแข่งขันทำให้การจราจรปกติต้องติดพอสมควร
ความปลอดภัย-วิ่ง
เส้นทางวิ่งอยู่ในตัวเมืองและผ่านชุมชน ไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด แต่ควบคุมได้ปลอดภัยดี มีเจ้าหน้าที่และป้ายแสดงระยะทาง จุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจนดี อาจจะมีนักกีฬาสับสนตรงทางเข้าออกบริเวณสนามกีฬาบ้าง และการแข่งขันจัดในเวลากลางวันที่การจราจรปกติคับคั่งและติดพอสมควร
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่จุดเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งที่สนามกีฬาและท่าเทียบเรือกว้างขวางเพียงพอ การควบคุมการเข้าออกทั้งก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขันทำได้ดีมากตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้ล่วงหน้า การให้ทยอยเข้าพื้นที่เป็นเวลานานทำให้นักกีฬาไม่แออัด แต่การมีจุดเปลี่ยนอุกปรณ์ 2 แห่ง ต้องมีถุงอุปกรณ์ 2 ถุง รวมถุงใส่รองเท้าแตะอีก 1 ถุง ก็ทำให้นักกีฬาสับสนพอสมควร และการบริการนำถุงอุปกรณ์และถุงรองเท้าแตะจากท่าเทียบเรือมาคืนให้ที่สนามกีฬาเป็นกองใหญ่ ๆ ยังทำให้หายาก ควรแยกเป็นกองย่อย ๆ ตามหมายเลข bib
การแพทย์
การเฝ้าระวัง การบริการทางการแพทย์ทำได้ดีมาก ทั้งที่ส่วนกลางและตลอดเส้นทางการแข่งขัน
อาหาร เครื่องดื่ม
อาหารและเครื่องดื่มตลอดเส้นทางการแข่งขันมีเพียงพอและบริการดีมาก อาหารบริเวณส่วนกลางโดยใช้คูปองที่จัดเป็นชุด ๆ ให้นักกีฬาหยิบเอง ทำให้มีเพียงพอ ไม่แออัด จัดการเรื่องคิวและป้องกันโควิดได้ดีมาก

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Olympic ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป


หลังจาก [IM70.3 Bangsaen] เมื่อต้นปี ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเริ่มมีข่าวโควิดรุกรานเฉพาะในเอเชีย งานไตรกีฬาทั้งหมดก็ต้องงดไปเกือบทั้งปี รวมถึงไตรกีฬานาวีฤดูที่สอง 2 ครั้งแรกซึ่งกำหนดจัดที่ระนองและนครพนม ส่วนครั้งที่สามที่สัตหีบกลับมาจัดได้ แต่ผมไม่ได้ไป เพราะผู้จัดให้สิทธิคนที่สมัครเดิมไว้แล้วก่อน พอมีข่าวการจัดฤดูที่สาม โดยกลับมาจัดครั้งแรกที่ระนองอีก ผมก็ตั้งตารอเลย ยอมไม่ไป [Laguna Phuket] ซ้ำ ก็เพราะอยากมาระนองมากกว่า แค่ได้ว่ายน้ำในชะวากทะเล (estuary) ของแม่น้ำกระ พรมแดนระหว่างระนองกับเกาะสองของเมียนมา ก่อนไหลลงทะเลอันดามัน ก็คุ้มสุดคุ้มแล้ว

ก่อนเดินทางมาระนอง ผมกังวลอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือ สถานการณ์โควิดที่ลามไปทั่วโลก และจะมีนักกีฬาต่างชาติเข้าร่วมด้วย ถึงประเทศไทยจะไม่มีข่าวผู้ติดเชื้อในประเทศมานานมากแล้ว แต่การมาจัดที่ระนอง ซึ่งพรมแดนติดเมียนมาเพื่อนบ้านที่ติดเชื้อโครม ๆ ชนิดข้ามน้ำหรือเดินป่านิดหน่อยก็ถึงแล้ว ก็ทำให้ผมระวังตัวเป็นพิเศษ เตรียมอุปกรณ์ทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เครื่องใช้ส่วนตัวไปพร้อมกว่าทุกครั้ง แต่โดยสถิติดีเด่นของจังหวัดระนองที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเลยมาตั้งแต่ต้นปี เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่มีมาตรการป้องกันและควบคุมโรคดีมาก แถมยังมีระบบข้อมูลครบถ้วนไม่ใช่เฉพาะฝั่งไทยแต่ยังเลยไปถึงฝั่งเมียนมาตอนล่างอย่างสมบูรณ์อีกด้วย [1] กับเมื่อมาเห็นการจัดงานที่เข้มงวดตามมาตรการป้องกันโรคดีมาก ผมก็คลายกังวลเรื่องนี้ไปเลย ส่วนความกังวลเรื่องที่สอง คือ เส้นทางปั่น เพราะระนองก็คงไม่แพ้ภูเก็ตในเรื่อง ..ไม่มีเนิน มีแต่เขา.. ผมก็ทำใจเอาไว้ระดับหนึ่ง

ผมเดินทางมาก่อนล่วงหน้าหลายวัน มีโอกาสขับรถดูเส้นทางปั่นที่กังวล พอได้มาเห็นก็สบายใจขึ้นมาก เพราะเนินไม่ชันเหมือนภูเก็ต มีแต่เส้นทางช่วงแรกสุดที่ต้องปั่นจากท่าเทียบเรือขึ้นมาบนถนนเท่านั้นซึ่งชันหน่อย และผมก็โชคดีที่พี่รัตน์ หรือ โกรัตน์..รุ่นพี่สวนกุหลาบ ช่วยหาที่พักซึ่งหายากมากช่วงนั้น ได้ที่ บ้านเชิงเขารีสอร์ต [2] ซึ่งอยู่ห่างจากสนามกีฬาจังหวัด สถานที่จัดงานแค่ 2 กม. ก็ทำให้การเดินทางสะดวกสบายจริงๆ แถมยังมีโอกาสได้ลองสนาม ตื่นเช้าวิ่งจากโรงแรมไปตามเส้นทางวิ่งเลียบลำธารที่ไหลมาจากสวนสาธารณะบ่อน้ำร้อนรักษะวารินก่อนลงแข่งด้วย 

วันแข่งขัน ระยะ Olympic เริ่มเวลา 08.30 น. สายกว่าทุกครั้งเพราะต้องรอให้น้ำนิ่ง แต่ก็ต้องตื่นเช้าอยู่ดี เพราะกว่าจะได้แข่ง ต้องเดินทางหลายต่อมาก คือจากโรงแรมไป transition 2 ที่สนามกีฬา แล้วต้องขึ้นรถบัสจากสนามกีฬาไป transition 1 ที่ท่าเทียบเรือซึ่งอยู่ไกลออกไปประมาณ​ 13 กม. จากท่าเทียบเรือก็ต้องขึ้นรถบัสต่อไปที่ท่าเรือกิจไพศาลซึ่งเป็นจุดปล่อยตัว แล้วต้องรอทยอยลงเรือรบตาม wave ก่อนถูกไปปล่อยลงน้ำกลางทะเลอีก ผมอยู่ wave 4 หมวกสีม่วง เป็น wave ที่ได้รับเกียรติให้ไปยืนชมวิวบนดาดฟ้าเรือรบเลย โชคดีมาก 



ว่ายน้ำ 
ระยะทาง 1.5 กม.
เวลา 24:46 นาที
Pace 1:39 นาที/100 ม.
เส้นทางว่ายน้ำเป็นเส้นตรง จากจุดปล่อยตัวบนเรือรบทางทิศใต้ ว่ายตามกระแสน้ำขึ้นเหนือตามรูป โดยมีทุ่นบอกระยะอยู่ชิดฝั่งด้านขวามือ  ตอนปล่อยตัว ผมกอด buoy ไว้กับอกกระโดดลงน้ำไปแบบตื่นเต้นพอ ๆ กับตอนลงแข่งในแม่น้ำโขง ต่างกันที่อากาศและน้ำไม่เย็นเท่า พอสัมผัสน้ำทำความคุ้นเคยได้สักพัก ก็ออกตัวว่ายได้เลย การปล่อยตัวเป็น wave และทยอยปล่อยแบบนี้ ทำให้นักกีฬาไม่หนาแน่น ไม่มี 'ดงปลาตีน' ให้ต้องฝ่า สักพักผมก็ขึ้นเป็นกลุ่มนำใน wave ของตัวเอง ทำให้มีช่องว่างห่างจาก wave ก่อนหน้าสามารถว่ายเร่งทำเวลาได้ดี ทะเลมีคลื่นซัดใส่หน้าบ้าง ผมเลยเปลี่ยนจากหายใจ 1 ต่อ 2 stroke เป็น 1 ต่อ 4 stroke เหมือนตอนว่ายในสระ แถมไม่ต้องกังวลเรื่องทิศเท่าไร เพราะแนวทุ่นอยู่ขวามือ มองเห็นทุกครั้งที่เงยหน้าขึ้นมาหายใจข้างถนัดอยู่แล้ว ก็ช่วยให้ทำเวลาได้ดี มาถึงครึ่งทาง ผมก็ว่ายทันกลุ่มหมวกสีชมพู wave ก่อนหน้า ช่วงนี้ต้องว่ายฝ่านักกีฬาคนอื่นอีกครั้ง เลยต้องเปลี่ยนเป็นท่ากบบ้างเพื่อหลบหลีกคนด้านหน้า สังเกตว่าตอนว่ายท่ากบ buoy ที่ผูกเอวจะหน่วงตัวไว้ แต่ไม่นานกระแสน้ำก็ช่วยให้มาถึงแพจุดหมายตรงท่าเทียบเรือแบบไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไร

Transition 1
เวลา 06:08 นาที
จากแพ จะต้องปีนบันไดขึ้นเรือก่อนหนึ่งช่วง แล้วปีนจากเรือขึ้นท่าเทียบเรืออีกทอดหนึ่ง ซึ่งก็ชันพอสมควร นึกบ่นในใจว่า มาแข่งไตรกีฬานะไม่ใช่ปีนเขา ความที่เพิ่งขึ้นจากน้ำแล้วต้องมาปีนป่ายทันที แถมดันลืมถอดแว่นว่ายน้ำแบบสายตาสั้นออกแล้ว มองพื้นไม่ชัด ทำให้รู้สึกมึน ๆ เหมือนเมาเรือนิดหน่อยระหว่างปีน พอขึ้นมาถึงท่าเทียบเรือก็เลยไม่กล้าวิ่ง แต่พอผ่านจุดล้างตัวไปแล้วก็ปรับตัวได้ ออกวิ่งเหยาะๆ เข้า transition ซึ่งผมใช้เวลาเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวไม่นาน กินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาทั้งขวด กับขนม Angel Ball [4] ไปสองลูก แล้วลากจักรยานออกไป นับว่าทำเวลาได้ดีกว่าทุกครั้ง



จักรยาน
ระยะทาง 40 กม.
เวลา 1:24:50 ชม.
Pace 27.67 กม./ชม.
เส้นทางจักรยานงานนี้เรียกได้ว่า จัดให้ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ รอบตัวเมืองระนองไว้หลายแห่ง ตั้งแต่จุดชมวิวทะเลที่มองเห็นเกาะสองของเมียนมา สุสานเจ้าเมือง ภูเขาหญ้าและน้ำตกหงาว ไตรกีฬาสายท่องเที่ยวอย่างผมจึงชอบมาก เส้นทางช่วงแรกแคบแบบรถสวนเป็นเนินคดเคี้ยวพอสมควร มี rolling เป็นช่วง ๆ รวมประมาณ 10 กม. แต่พอถึงถนนเพชรเกษมแล้วก็เป็นเส้นตรงตลอด เป็นทางราบส่วนใหญ่ มีเนินยาว ๆ อยู่บ้าง แต่ก็สามารถปั่นทำเวลาได้ดี จุดกลับตัวของการแข่งขันแต่ละประเภทแยกคนละจุดซึ่งตอน brief ก็ย้ำแล้วย้ำอีก แต่ก็ยังมีนักกีฬาบางคนกลับตัวผิดจุดจนเจ้าหน้าที่ต้องตะโกนบอกให้ปั่นย้อนกลับไปใหม่  สำหรับตัวผม ปั่นเสือหมอบ Mosso [3] คันเดิม ช่วงแรกที่กังวลว่าจะเจอทางชันตอนปั่นขึ้นจากท่าเทียบเรือ ก็ไม่ได้ผ่านตรงนั้น แต่ปั่นอ้อมไต่ระดับความชันน้อยกว่าแทน และความที่เส้นทางปั่นประจำของผมแถวบ้านก็เป็นเนินเขาแถวเนินมนัสอยู่แล้ว จึงค่อนข้างปั่นในเส้นทางช่วงแรกนี้ได้สบาย heart rate อยู่ใน zone 3 เป็นส่วนใหญ่ 76% มีขึ้นไป zone 4 22% เฉพาะช่วงแรกเท่านั้น peak ที่สุดอยู่ที่ 161 ช่วงที่ปั่นบนถนนเพชรเกษมนอกเมืองมีฝนปรอย ๆ ให้สบายตัว แต่มีเรื่องไม่สบายอยู่นิดเดียว คือ ช่วงผ่านตัวเมือง ต้องปั่นดมควันรถที่ติดยาวมาก โดยสรุป ทำความเร็วสำหรับระยะ 40 กม. ค่อนข้างคงที่ และไม่ได้แวะดื่มน้ำเลยเหมือนกัน

Transition 2
เวลา 02:37 นาที
ตอนเดินจูงจักรยานเข้า transition ไม่เหนื่อย ยังวิ่งเหยาะ ๆ ได้ เพราะอากาศช่วงสายใกล้เที่ยงยังไม่ร้อนอย่างที่คิด ใน transition ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาจนหมดขวดทีเดียว ตั้งใจว่า จะไม่แวะเติมน้ำข้างทางเลย ก็ตอนซ้อมระยะ 10 กม. ปกติก็ไม่เคยต้องหยุดกินน้ำอยู่แล้ว แต่พก Angel Ball ใส่กระเป๋าไป 3 ลูก เผื่อหิวกลางทาง



วิ่ง
ระยะทาง 10.5 กม.
เวลา 1:13:31 ชม.
Pace 6.56 นาที/กม.

งานนี้ เส้นทางวิ่งเป็นทางราบในเมืองเป็นส่วนใหญ่ มีขึ้นเนินยาว ๆ ตอนช่วงเลียบลำธารที่มาจากสวนสาธารณะบ่อน้ำร้อนรักษะวารินเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ธรรมชาติสองข้างทางร่มรื่นสวยงาม แดดก็ไม่ร้อน ผมได้ลองวิ่งเส้นทางนี้ก่อนแข่งมาแล้ว ค่อนข้างมั่นใจว่าสบายมาก แต่วันจริงกลับไม่เป็นอย่างที่คิด

ก่อนมาแข่งงานนี้ ผมเปลี่ยนวิธีวิ่งเป็นแกว่งตะโพกก้าวสั้นถี่ ๆ ได้หลายเดือนแล้ว ซึ่งวิธีนี้ทำให้วิ่งได้ระยะยาวขึ้นแบบไม่ค่อยเหนื่อย สามารถทำความเร็วได้ค่อนข้างเสมอต้นเสมอปลาย และไม่บาดเจ็บ มาแข่งคราวนี้ ผมก็ออกวิ่งลักษณะนี้ได้ดีตลอดช่วง 5 กม.แรกด้วย pace ต่ำกว่า 6 นาที/กม. โดยไม่ต้องแวะเติมน้ำได้ตามที่ตั้งใจ แต่พอถึงปลาย กม. ที่ 5 ซึ่งเป็นช่วงวิ่งลงเนินเข้าเมืองด้วยซ้ำ ผมกลับรู้สึกไม่ค่อยมีแรงเอาดื้อ ๆ หัวใจไม่เหนื่อยและไม่ได้เป็นตะคริว แต่ขามันขี้เกียจก้าวเฉย ๆ สุดท้ายก็เลยต้องเดินและแวะจุดให้น้ำตลอด 5 กม. หลัง ก่อนจะมาวิ่งเข้าเส้นชัยช่วงสุดท้าย  โดยรวม heart rate ส่วนใหญ่อยู่ใน zone 3 46% เป็น zone 4 และ 2 ที่ 33% และ 21% ตามลำดับ ไม่มี zone 5 เลย peak สูงสุดขึ้นไปที่ 156 เท่านั้นเอง ถ้าดูจากชีพจร ก็ถือว่าเป็นการวิ่งสบาย ๆ แต่ทำไมถึงก้าวขาไม่ออกช่วงครึ่งหลัง ก็ไม่รู้ 



รวมเวลา 3:11:51 ชม.
หลังจากหยุดแข่งมา 10 เดือน ความจริงก่อนมาแข่ง ก็แอบหวังว่า ไหน ๆ ก็ผ่านระยะ [Half Ironman] มาแล้ว ระยะ Olympic คราวนี้ น่าจะทำเวลาได้ดีขึ้น ได้ลุ้นต่ำกว่า 3 ชม. แต่ก็ทำไม่ได้  ว่ายน้ำได้ดีจากการปล่อยตัวเป็น wave และกระแสน้ำช่วย ปั่นจักรยานก็ใช้บุญเก่า ทำให้ปั่นช่วงเนินได้ดี แต่มาตกม้าตอนวิ่ง ถ้าให้วิเคราะห์เอง ผมคิดว่า น่าจะเป็นจาก ซ้อมน้อย และ เติมน้อย ซ้อมน้อย..ถึงผมจะซ้อมวิ่งมาตลอดอย่างสม่ำเสมอ มากกว่าประเภทอื่นด้วยซ้ำ แต่ไม่ค่อยได้ซ้อมวิ่งหลังปั่น พอมาแข่งจริง มันไม่เหมือนกับที่ซ้อมมาแต่วิ่ง เติมน้อย..เพราะผมตั้งใจไม่เติมน้ำ เติมพลังงานทีละน้อยเหมือนการแข่งขันครั้งก่อน ๆ แต่ใช้วิธีกินตุนมาตั้งแต่ใน transition จึงทำให้ร่างกายขาดน้ำหรือเกลือแร่ในช่วงวิ่งตอนใกล้เที่ยง ซึ่งถึงจะไม่มีแดดแบบสนามอื่น แต่อากาศก็ร้อนพอสมควร และสนามนี้กว่าจะแข่งจบ ก็ใกล้เวลาอาหารเที่ยงแล้ว ซึ่งผมไม่ชิน ไม่ได้เตรียมตัวซ้อมสำหรับการแข่งขันช่วงเวลาแบบนี้มาเลย และพลังงานที่กินมาอาจจะไม่พอ