2022-08-21

O: กระบี่ไตรกีฬา 2565: กระบี่ - Krabi Triathlon 2022: Krabi

O: ระยะโอลิมปิก - Olympic distance

กระบี่ไตรกีฬา 2565 - Krabi Triathlon 2022
หาดนพรัตน์ธารา กระบี่ - Nopparatthara Beach Krabi


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
เริ่มประชาสัมพันธ์การแข่งขันทาง Facebook [1] ก่อนล่วงหน้างานไม่ถึงเดือน แล้วให้สมัครเลย นับว่าค่อนข้างกระชั้นมาก แต่ข้อมูลการแข่งขันที่แจ้งก่อนล่วงหน้าละเอียดดีมาก การตอบคำถามทาง inbox ช้าหรือไม่ตอบเลย
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยและภาคอังกฤษชัดเจนได้ยินทั่วถึงบริเวณที่จัดงานและเป็นกันเองดี แต่ควรมีแผนผังแสดงพื้นที่จัดงาน เช่น จุดลงทะเบียน ลานจอดรถ อาหาร สุขา สินค้า ติดตั้งไว้หลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าออก ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นได้ชัดเจน 
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
สถานที่จอดรถบริเวณลานจอดรถที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเดิมอยู่ไม่ไกล ไม่มีบริการรถรับส่ง แต่สามารถเดินมาถึงสถานที่จัดงานใหม่ได้ พื้นที่จอดรถไม่เพียงพอ เนื่องจากมีทั้งนักกีฬาและนักท่องเที่ยวทั่วไปด้วย   
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
การชี้แจงรายละเอียดเส้นทางการแข่งขัน จุดเสี่ยงและกฏกติกาต่าง ๆ ในวันลงทะเบียนภาคไทยละเอียดดี แต่ภาคอังกฤษแปลไม่ครบถ้วน มีเอกสารรายละเอียดการแข่งขันแจกเป็นกระดาษด้วย แต่ไม่ update ข้อมูลจึงสับสนและสิ้นเปลืองเปล่า ไม่มีการถ่ายทอดทาง Facebook Live สำหรับผู้ที่ไม่ได้มาฟังในงาน
การลงทะเบียน การจัดการ
การประสานงานนับว่าสับสนมาก ถึงแม้การลงทะเบียนจะทำได้รวดเร็วและมีมาตรการป้องกันโควิดเป็นอย่างดี แต่น้องที่จุดลงทะเบียนไม่สามารถตอบคำถามทั่วไป เช่น การรับ wristband ซึ่งในเอกสารแจ้งว่าต้องรับวันลงทะเบียน จุดตรวจสอบชิพจับเวลา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 'แจกหมวกผิดรุ่น วุ่นไปตลอดงาน' ที่ทำให้ race director เดือดร้อนและต้องเสียเวลาประชาสัมพันธ์แก้ไขไปตลอดงาน สิ่งที่ควรปรับปรุงอย่างยิ่งคือ การประชาสัมพันธ์ซ้ำ ๆ เรื่องความตรงต่อเวลา แต่เอาเข้าจริง ๆ ไม่สามารถรักษาเวลาตามที่ประกาศไว้ได้ ตั้งแต่เวลาปิดจุดเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เลื่อนยาวถึง 45 นาที เหมือนเป็นการลงโทษนักกีฬาที่ตรงเวลาให้มารอ เวลาปล่อยตัวลงน้ำเลื่อนจาก 06:00 น. ช้าไปกว่า 20 นาทีเพราะฟ้ามืดเกินไป ทั้งที่ควรรู้ล่วงหน้าและสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงได้ในวันลงทะเบียน นอกจากนั้น การตัดรุ่นนักกีฬาผู้หญิงช่วงอายุที่มีผู้เข้าร่วมน้อยไปรวมกับอีกรุ่นที่อายุน้อยกว่า ดูจะไม่ยุติธรรมกับนักกีฬากลุ่มนั้น เขาควรมีสิทธิได้รางวัลในกลุ่มอายุเดิม
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
การอนุญาตให้นักกีฬาใช้ buoy ได้โดยปล่อยตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายแสดงถึงการคำนึงถึงความปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้ปล่อยตัวเป็น wave ตามที่ชี้แจงใน race brief เส้นทางว่ายน้ำไม่มีทุ่นแสดงแนว เพราะติดขัดกฏเกณฑ์ห้ามวางทุ่นของอุทยานฯ แต่ใช้เรือหางยาวจอดกำหนดจุดแทนไม่เหมาะสม เวลาที่เรือโต้คลื่นเอาท้ายเรือออกด้านนอก หางเสือเรือที่โยกขึ้นลงตามคลื่นเป็นอันตรายกับนักกีฬาที่กำลังว่ายผ่านจุดเปลี่ยนทิศมาก การใช้ธงสัญญาณสีฟ้าที่สีกลืนไปกับน้ำทะเลและท้องฟ้าตอนเช้าแทบไม่มีประโยชน์เลย รวมทั้งมีเรือช่วยเหลือนักกีฬาน้อยมาก 
ความปลอดภัย-จักรยาน
เส้นทางจักรยานต้องใช้คำว่า ไม่ปิดถนน น่าจะตรงกว่า เพราะกลัวการปิดถนนจะกระทบนักท่องเที่ยว แต่พอเลื่อนเวลาแข่งขัน เวลาปิดถนนจึงกระทบนักกีฬาไปด้วย งานนี้นอกจากจะได้ปั่นจักรยานไปพร้อมกับมอเตอร์ไซค์ชาวบ้านแล้ว ยังมีโอกาสได้ draft กับรถบรรทุกพ่วงขนาดใหญ่ด้วย แถมด้วยความสับสนชนิดรอบแรกปั่นถนนฝั่งหนึ่ง แต่รอบสองมีเจ้าหน้าที่มาบอกให้ปั่นย้อนศรเพราะปิดถนนฝั่งหนึ่ง  นอกจากปัญหาเรื่องการปิดถนนแล้ว สภาพเส้นทางต้องเรียกว่าแย่ มีการก่อสร้างตั้งแต่ออกจากหาดนพรัตน์ธาราจนถึงแยกนาตีน ตรงไหล่ทางที่ให้ปั่นยังมีก้อนกรวดหลายขนาดเป็นกับดักอีก ยังดีที่บางจุดมีป้ายเตือนหลุมบ่อให้หลบ ป้ายกำกับเส้นทางก็ไม่ครบถ้วน ตรงจุดเลี้ยวซ้ายที่ระยะ Olympic ต้องไปตรงเพื่อปั่นรอบสอง ไม่มีป้ายบอก และปัญหาสุดท้ายคือ มีเจ้าหน้าที่กำกับเส้นทางน้อยมาก
ความปลอดภัย-วิ่ง
ปัญหาของเส้นทางวิ่งเหมือนกับจักรยาน คือ ไม่ปิดถนน หรือปิดแต่ไม่ได้ผล เพราะใช้ถนนเลียบหาดนพรัตน์ธาราตลอดสาย ตั้งกรวยไว้ไหล่ทางความกว้างไม่ถึง 2 เมตร ซึ่งนักกีฬาไม่สามารถวิ่งสวนกันได้เลย ส่วนหนึ่งจึงต้องออกไปวิ่งนอกแนวกรวยแล้วเสี่ยงภัยเอง บางช่วงมีกรวยตั้งไว้สองแนว แต่ก็ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร ตรงจุดกลับตัวบนเนินใกล้กระบี่รีสอร์ตก็ไม่มีเจ้าหน้าที่กำกับเส้นทางเฝ้าประจำ รถที่วิ่งปกติจึงวิ่งสวนทางเข้ามาในบริเวณแข่งขันอันตรายมาก นักกีฬาวิ่งอยู่ดี ๆ มีโอกาสประจันหน้ากับรถใหญ่ที่สวนทางเข้ามาได้เลย และการที่วิ่งไปด้วยกันแบบนี้ นักกีฬาก็สูดดมควันพิษจากท่อไอเสียกันไปเต็ม ๆ
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่จุดเปลี่ยนอุปกรณ์กว้างขวางเพียงพอ การควบคุมการเข้าออกทั้งก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขันทำได้ดีตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้ล่วงหน้า แต่การเปลี่ยนแปลงเวลาปิดที่ย้ำอยู่ตลอดใน race brief ว่าเป็นเวลา 05:00 น. พอถึงวันแข่งก็เลื่อนเป็น 05:30 และ 05:45 น.เฉยเลย เสียเวลานอนไปตั้ง 45 นาที
การแพทย์
การเฝ้าระวัง การบริการทางการแพทย์ทำได้ดีมาก ทั้งที่ส่วนกลางและตลอดเส้นทางการแข่งขัน
อาหาร เครื่องดื่ม
อาหารและเครื่องดื่มตลอดเส้นทางการแข่งขันมีเพียงพอและบริการดีมาก อาหารบริเวณส่วนกลางโดยใช้คูปองแลกจากซุ้มอาหารที่มีจำนวนมากทำได้ดี แต่สงสารแม่ค้าที่เหงามากทั้งสองวัน

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Olympic ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป



หลังผ่าน [สงขลาไตรกีฬา 2565]  ผมก็ซ้อมวิ่งอย่างเดียวเพื่อเตรียมตัวลง half marathon ครั้งที่สองของตัวเองใน Songkhla International Marathon [1] แล้วอยู่ดี ๆ รุ่นน้องในกลุ่ม OSK TRI [2] ก็โพสต์แจ้งว่ามีงานนี้ที่เพิ่งประชาสัมพันธ์และให้สมัครแบบกระชั้นชิด..อีกแล้ว แต่เห็นแค่ 'กระบี่' ผมก็ไม่คิดมาก สมัครทันที ถึงจะปาดหน้างานวิ่งที่สงขลาแค่อาทิตย์เดียวก็ตาม คือ ต่อให้ไม่ฟรี ผมก็อยากมา แล้วรีบจองโรงแรม เพราะสุดสัปดาห์ช่วงหลังโควิดแบบนี้ เมืองท่องเที่ยวอย่างกระบี่ ห้องพักใกล้งานน่าจะหายาก

สมัครแล้วก็ต้องแบ่งเวลาแบ่งใจมาซ้อม brick ปั่น-วิ่งบ้าง แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะผมซ้อมแบบนี้มาระยะหนึ่งก่อนไป [อเมซิ่งเรซและไตรกีฬา: พัทลุง] อยู่แล้ว แต่ก็ต้องทำใจว่า half marathon คงทำไม่ได้ตามเป้า

ผมออกจากหาดใหญ่แต่เช้า ถือโอกาสขับรถตระเวณล่าสมบัติ Geocache [3] ไปด้วย เพราะกระบี่มีอยู่เยอะมาก ช่วงเย็นจึงเข้าที่พักที่ อโยธยาพาเลสอ่าวนางบีชรีสอร์ต [4] ซึ่งพอสถานที่จัดงานถูกเลื่อนจากตรงหน้าที่ทำการอุทยานฯ เป็น อ่าวนางแลนด์มาร์ค [5] แล้วยิ่งใกล้ขึ้นไปอีก พนักงานโรงแรมบอกว่า มีทางลัดสามารถเดินไปที่จัดงานได้ไม่ถึง 10 นาที แต่ผมออกมาเดินตรงถนนริมหาด เพราะอยากสำรวจดูความเปลี่ยนแปลงของที่นี่ แล้วค่อนข้างแปลกใจ ที่นักท่องเที่ยวตรงหาดนพรัตน์ธาราค่อนข้างน้อยกว่าที่คิดมาก

หลังฟัง race brief แล้ว ผมขับรถดูเส้นทางจักรยานเหมือนทุกครั้ง แล้วค่อนข้างกังวลเรื่องถนนที่กำลังก่อสร้างไม่มีไหล่ทาง แต่ก็สบายใจไปเรื่องหนึ่ง คือ ไม่มีเนินเลย มีเนินเตี้ยจุดเดียวตรงจุดกลับตัวก่อนถึงค่ายนาวิกโยธินที่หาดคลองม่วงเท่านั้น ขากลับผมแวะซื้อกล้วยน้ำว้าจากชาวบ้านที่วางขายอยู่หน้าบ้านมาเป็นเสบียงช่วงเช้า
 
วันแข่งขัน ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ เช้ากว่าปกติอยู่ดี ถึงที่พักจะอยู่ใกล้มาก เพราะตอน race brief พิธีกรย้ำนักย้ำหนาว่า ปิดจุดเปลี่ยนอุปกรณ์ตอน 05:00 น. ตรง ซึ่งก็ยังสงสัยอยู่ว่า จะปิดก่อนเวลาปล่อยตัวตั้ง 1 ชม. เพื่ออะไร แต่เป็นนักกีฬาที่ดีต้องตรงต่อเวลา แล้วก็ต้องหงุดหงิดกับการประกาศเลื่อนเวลาปิดจุดเปลี่ยนอุปกรณ์ไปเรื่อย ๆ สลับกับเสียงประกาศเรื่องเปลี่ยนหมวกว่ายน้ำที่แจกผิดซึ่งยังตามมาหลอกหลอนเช้านี้อีก เดิน warm up ก็แล้ว เดินหาคนรู้จักก็แล้ว ซัดน้ำเต้าหู้อุ่น ๆ ฆ่าเวลาก็แล้ว ก็ยังไม่เริ่มงานเสียที สุดท้ายก็มารู้เหตุผลหนึ่งที่เลื่อนเวลา เพราะพอ 06:00 น. ฟ้าก็ยังมืดสนิท นักกีฬาก็ยืนรอพระอาทิตย์ขึ้นกันไป ความจริง นอนต่อได้เป็นชม.




ว่ายน้ำ 
ระยะทาง 1.5 กม.
เวลา 40:23 นาที
Pace 2:41 นาที/100 ม.
เส้นทางว่ายน้ำเป็นรูปสามเหลี่ยมให้ว่ายวนขวาตามที่ถนัด การปล่อยตัวพร้อมกันหมดไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแออัด เพราะนักกีฬาไม่ถึงร้อยคน แต่ปัญหากลับเป็นคลื่นที่แรงพอสมควร กับไม่มีแนวทุ่นไข่ปลาให้เล็งแบบทุกครั้ง จะอาศัยนักกีฬาคนอื่น ก็มองไม่เห็นเพราะกลืนไปกับคลื่น ผมเลยว่ายเป๋ออกนอกแนวหลายครั้งตามรูปข้างบน อีกเรื่องที่เป็นกังวลคือ ตะคริวในน้ำเวลาว่ายฝ่าคลื่น แต่งานนี้ผมพ่นสเปรย์กันตะคริวมาแล้ว จึงไม่มีปัญหาเลย

ความที่ไม่มีทุ่นไข่ปลา มีแต่เรือหางยาวลอยเป็นหมายอยู่ไม่กี่ลำ เรือช่วยเหลืออื่น ๆ ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับงานอื่น ความรู้สึกจึงเหมือนมาว่ายน้ำทะเลโต้คลื่นกับเพื่อน ไม่ได้กดดันอะไร ใช้วิธีว่ายฟรีสไตล์สลับกบเพื่อเล็งทิศเป็นช่วง ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีเรื่องตื่นเต้นเล็กน้อยจนได้ตรงจุดเปลี่ยนทิศแรก ที่เรือหางยาวก็โต้คลื่นไปด้วยจนคุมทิศไม่ได้ หันหางเสือเรือออกมาด้านนอก แถมโยกกระดกขึ้นลงอย่างน่าหวาดเสียว มีเสียงนักกีฬาตะโกนลั่นฝ่าคลื่นให้หลบกันเอาเอง ที่เหลือก็ต้องว่ายตีวงอ้อมเพื่อความปลอดภัย

ช่วงว่ายขนานกับฝั่ง คลื่นลูกโตที่ซัดข้างตลอด ทำให้เล็งทิศลำบาก พอว่ายฟรีสไตล์สวนออกก็เฉออกนอกมากไป ต้องเปลี่ยนเป็นว่ายกบเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งวกกลับเข้าฝั่งซึ่งเป็นช่วงพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว สนุกมากกับการว่ายบนยอดคลื่น ได้ผ่อนแรงดี 

Transition 1
เวลา 01:04 นาที
ขึ้นจากน้ำ จะต้องวิ่งผ่านชายหาด ขึ้นบันไดแล้วข้ามถนนเข้าไปใน transition ซึ่งอยู่ในศูนย์การค้าข้างใน จึงไม่น่าเชื่อว่าจะใช้เวลาแค่นาทีกว่าเท่านั้น ไม่แน่ใจว่าเขาจับเวลาที่จุดไหน แต่ก็ต้องถือว่าทำเวลาได้ดี เพราะไม่ต้องเสียเวลาใส่ถุงเท้า และเตรียมของไว้เรียบร้อยก่อนหน้าแล้ว




จักรยาน
ระยะทาง 40 กม.
เวลา 1:26:51 ชม.
Pace 27.6 กม./ชม.
ปั่นจักรยานงานนี้เรียกได้ว่าวิบาก ถึงเส้นทางจะไม่มีเนินเลย แต่เพราะบางช่วงไม่ปิดถนน มีการก่อสร้าง ก้อนกรวดไหล่ทางเยอะมาก และที่สำคัญ ฝนตกหนัก ยังดีที่ผมเปลี่ยนมาใช้เสือหมอบ Trek Madone SL7[6] ซึ่งทรงตัวได้ดีมากแล้ว ถ้ายังใช้ Mosso[7] คันเดิม ก็ไม่รู้ว่าจะลื่นล้มไหม

เส้นทางช่วงแรกตั้งแต่ออกจากหาดนพรัตน์ธาราจนถึงแยกนาตีนมีการก่อสร้างและไม่ปิดถนน ผมปั่นชิดซ้ายที่ไม่มีไหล่ทางอยู่ได้สักพัก ก็ได้ยินเสียงจักรยานยนต์ตามหลังมาประกบ นึกว่าเป็นเสียงรถ marshall เหมือนสนามอื่น แต่พอหันกลับไป อ้าว..กลายเป็นรถครอบครัวซ้อนสี่ 

พอถึงทางหลวงหมายเลข 6024 ไปคลองม่วง ซึ่งเป็นถนนใหญ่ ก็เจอฝนเข้าพอดี..หนักมาก นับเป็นการปั่นจักรยานกลางฝนหนักครั้งแรกของผม เดิมที่คิดว่าพอออกถนนใหญ่แล้วจะได้ปั่นทำเวลา เจอฝนเข้าแบบนี้ ก็ทำใจได้เลย แค่ปั่นประคองให้ปลอดภัยที่สุดเป็นพอ กว่าฝนจะซา ก็ปั่นขึ้นรอบสองแล้ว แต่ถนนก็ยังเปียกมาก ต้องระวังต่ออยู่ดี แต่ก็ดีไปอย่างคือไม่ร้อน ไม่เหนื่อยเลย 

ความที่ปั่นไปเรื่อย ๆ heart rate ผมอยู่ใน zone 2-3 เป็นส่วนใหญ่ 71% มีขึ้นไป zone 4 20% และแทบไม่มี zone 5 เลย peak ที่สุดอยู่ที่ 157 ช่วงเร่งปั่นบนถนนเลียบชายหาดก่อนกลับเข้า transition แต่มีปัญหาตะคริวจับน่องซ้ายจนปวด ตอนบังคับรถ u-turn ตรงจุดกลับตัวสุดท้ายที่ปลายทางหลวงหมายเลข 6024 เลยต้องผ่อนแรงอยู่พักใหญ่ถึงหาย ปั่นต่อได้ไม่ต้องหยุด

Transition 2
เวลา 02:03 นาที
ตอนเดินจูงจักรยานเข้า transition ไม่เหนื่อย ยังวิ่งเหยาะ ๆ ได้ เพราะฝนพรำดับร้อนได้ดี ใน transition ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาจนหมดขวดทีเดียว แต่ลืมพก Angel Ball [8]ใส่กระเป๋าไปกินกลางทางแบบทุกครั้ง




วิ่ง
ระยะทาง 10 กม.
เวลา 1:01:43 ชม.
Pace 6.02 นาที/กม.

งานนี้ เส้นทางวิ่งเป็นถนนเลียบชายหาดนพรัตน์ธาราสองรอบ นักกีฬาต้องวิ่งร่วมทางไปกับรถทุกขนาดที่อยากจะบอกว่า ยังคงใช้ถนนอย่างปกติ จึงต้องใช้สัญชาตญานระวังภัยและอาศัยทักษะหลบหลีกสิ่งกีดขวางไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ฝนที่ยังพรำเบา ๆ อยู่ตลอด ดูหลักฐานจากภาพด้านบนได้ ช่วยให้อากาศไม่ร้อนเลย วิ่งไปได้เรื่อย ๆ แต่เพื่อความไม่ประมาท พอขึ้นรอบสอง ผมก็ชะลอแวะเติมน้ำที่จุดให้น้ำทุกจุด โดยไม่ต้องหยุดเดินยาวเลย

heart rate ครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง คือ เต้นเร็วเฉพาะช่วงต้นเท่านั้น คือพอวิ่งออกจาก transition ก็เต้นเร็วเลยประมาณ 10 นาทีก็ peak ที่ 177 แล้วอีก 10 นาทีต่อมาก็ลดลงมาคงที่ไปจนจบ อยู่ใน zone 3 ตลอดถึง 83% สันนิษฐานเอาเองว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะ พอเริ่มออกวิ่ง ไม่ทันเตรียมตัวเตรียมใจว่าจะต้องวิ่งร่วมทางกับรถสารพัดชนิด จนกระทั่งทำใจได้แล้วนั่นแหละ หัวใจจึงเต้นปกติ



รวมเวลา 3:12:12 ชม.
โดยรวมทำเวลาครั้งนี้ได้ไม่ดีนัก แต่ผมกลับรู้สึกพอใจกับผลงานพอสมควรกับสนามโหดแบบนี้ ว่ายน้ำต้องฝ่าคลื่น ปั่นก็ต้องฝ่าฝน มีวิ่งอย่างเดียวเท่านั้นที่ค่อนข้างสบายกว่าทุกครั้ง เพราะไม่มีแดด มีแต่สายฝนพรำ แล้วก็ได้เห็นข้อดีอีกข้อของการไม่ใส่ถุงเท้า คือ เวลาฝนตก เท้าเราไม่แฉะชุ่มน้ำ ยังปั่นและวิ่งได้สะดวกดี