2020-02-23

H: ไอรอนแมน 70.3 บางแสน 2563: ชลบุรี - Ironman 70.3 Bangsaen 2020: Chonburi

H: ระยะฮาล์ฟไอรอนแมน - Half Ironman
     คนเหล็ก 70.3 บางแสน 2563 - Ironman 70.3 Bangsaen 2020
     ชลบุรี - Chonburi


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
ประชาสัมพันธ์แจ้งรายละเอียดการแข่งขันทั้งทาง web และ Facebook ก่อนล่วงหน้าช่วงรับสมัครตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 ดีมาก มีรายละเอียดเส้นทางการแข่งขัน คู่มือนักกีฬาของปีที่แล้วให้ download มาอ่านได้ก่อน แจ้งปรับเส้นทางและมีคู่มือนักกีฬาของปีนี้ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ทั้งภาคอังกฤษและภาคไทยชัดเจนดี และมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่าง ๆ คอยตอบคำถามมองเห็นแต่ไกล แต่พื้นที่จัดงานค่อนข้างกว้าง ควรทำแผนผังงานในภาพรวมที่แสดงจุดจอดรถ ห้องประชุม เวที ซุ้มอาหาร หน่วยแพทย์ สุขา เป็นป้ายและใส่ไว้ในคู่มือนักกีฬา
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
มีบริการรับส่งนักกีฬาจากสนามบิน ที่จอดรถบริเวณสนามหลังโรงแรมบางแสนเฮอริเทจกว้างขวางเพียงพอและอยู่ไม่ไกลจากสถานที่จัดงาน แต่บริเวณจัดงานอยู่ชายหาดบางแสน นักท่องเที่ยวปกติก็มากอยู่แล้ว การจอดรถและการจราจรตรงถนนริมหาดจึงติดขัด
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
ชี้แจงเส้นทางการแข่งขันและกฏกติกาต่าง ๆ ภาคอังกฤษละเอียดดีมาก ข้อมูลเป็นประโยชน์ ทั้งเรื่องกระแสน้ำ กระแสลม มีภาพแสดงเส้นทางจริง มีช่วงตอบข้อสงสัยได้ชัดเจน และมีคลิปกับคู่มือนักกีฬาสำหรับคนที่ไม่ได้มาฟังในงาน ภาคไทยแปลไปพร้อมกันเสียงชัดเจนดีมาก แต่บางช่วงแปลไม่ครบ
การลงทะเบียน การจัดการ
การลงทะเบียน จุดรับอุปกรณ์ ห้องแสดงสินค้าจัดในห้องประชุมขนาดใหญ่ของโรงแรมบางแสนเฮอริเทจ ไม่ได้เป็นเต็นท์กลางแดดเหมือนงานอื่น สะดวกสบายและรวดเร็วมาก แต่มาตกม้าตายเรื่องการรับชิพจับเวลา ให้มารับบริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์หลังจากเอาจักรยานเข้าแล้ว พอต้องเลื่อนเวลาเปิดบริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์เพราะปัญหาลมแรง ทำให้นักกีฬาต้องมายืนรอรับชิพแถวยาวมาก ไม่ต่ำกว่าครึ่งชม.
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
เส้นทางว่ายน้ำมีแนวทุ่นและแพของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเป็นระยะ ชัดเจนดี การปล่อยตัวเป็นกลุ่มแยกตามความเร็วของนักกีฬาโดยใช้สีหมวกแบบ rolling start ครั้งละ 4 คนทุก 5 วินาทีทำได้ดีมากและรวดเร็ว ไม่แออัดตอนลงน้ำและยุติธรรมดี
ความปลอดภัย-จักรยาน
ทำความสะอาดและเตรียมเส้นทางสำหรับการแข่งขันดีมาก ถึงจะมีลมแรงและฝุ่นมาเติมตลอด การปิดถนนทั้งหมดหรือบางส่วนในแต่ละช่วงทำได้ดี มีตำรวจจราจรหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมจุดแยกสำคัญและป้ายบอกเส้นทางแข่งขันกับระยะทางชัดเจน และมีป้ายประชาสัมพันธ์การปิดถนนและเส้นทางเลี่ยงให้ผู้ใช้ถนนอื่น ๆ รับทราบตลอดเส้นทางดีมาก
ความปลอดภัย-วิ่ง
ทำความสะอาดและเตรียมเส้นทางสำหรับการแข่งขันดีมาก ถึงจะมีลมแรง ฝุ่นและขยะปลิวมาเติมตลอด การปิดถนนทั้งหมดหรือบางส่วนในแต่ละช่วงทำได้ดี มีตำรวจจราจรหรือเจ้าหน้าที่ควบคุมจุดแยกสำคัญและป้ายบอกเส้นทางแข่งขันกับระยะทางชัดเจน กลุ่มชาวบ้านที่ออกมาให้กำลังใจนักกีฬาตลอดเส้นทางน่ารักมาก แต่บางช่วงมีผู้ติดตามปล่อยให้เด็กเล่น scooter ในเส้นทางแข่งขัน และเส้นทางช่วงสุดท้ายตรงถนนคนเดินหน้าหาดบางแสนแออัด มีนักท่องเที่ยวอื่นที่มาใช้บริการร้านอาหารเดินร่วมหรือตัดเส้นทางตลอดเวลา อาจเกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะเด็กซึ่งเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวกะทันหัน
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่เพียงพอ การควบคุมการเข้าออกทำได้ดีมาก มีบริการสุขาในพื้นที่ แต่เปลี่ยนแปลงเวลาให้นำจักรยานเข้าเนื่องจากปัญหาลมแรง ทำให้นักกีฬาต้องยืนรอจำนวนมาก และแผงกั้นพื้นที่อยู่ใกล้กับบริเวณแถวจักรยานเกินไป
การแพทย์
การบริการทางการแพทย์พร้อมมาก ทั้งที่ส่วนกลางและตลอดเส้นทางการแข่งขัน มีรถพยาบาลและบุคลากรสุขภาพประจำเป็นระยะ การจัดการคัดกรองไวรัส ตรวจวัดอุณหภูมิ บริการเจลล้างมือทำได้ดีมาก
อาหาร เครื่องดื่ม
อาหารและเครื่องดื่มตลอดเส้นทางการแข่งขันมีหลากหลาย เพียงพอและบริการดีมาก แต่อาหารบริเวณส่วนกลางหลายซุ้มหมดเร็ว ไม่เพียงพอ

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น


หลังจากผ่านระยะ Olympic มาได้ 6 สนาม ผมก็คิดเลื่อนขั้นต่อ ซึ่งก็คือ [ระยะ Half Ironman หรือ Ironman 70.3] ซึ่งสนามที่เป็นตำนานและเพิ่งจัดในนาม Ironman ครั้งแรกมาแล้วในปี 2562 คือ Ironman 70.3 Bangsaen 

เห็นชื่อ บางแสน แล้วขนลุกซู่เลย ไตรกีฬา Ironman 70.3 ครั้งแรก กับการกลับมาหาดบางแสนและเขาสามมุก [1] ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

          เกือบ 50 ปีก่อน..

          ผมว่ายน้ำเป็นที่นี่..หาดบางแสน ทั้ง ๆ ที่พ่อหัดให้ในแม่น้ำปัตตานี แต่ผมขี้ขลาด
          ว่ายไม่เป็นซะที จนได้มาลงทะเลที่ลอยตัวง่ายกว่า จึงกล้าขึ้นแล้วว่ายได้ 

          ผมเกือบประสบอุบัติเหตุปั่นจักรยานลงเนินเขาสามมุกแล้วหยุดรถไม่ได้ เพราะ
          อ่อนประสบการณ์และความประมาทของเด็กน้อย จนทำให้ยังรู้สึกกลัวอะไร
          ที่เป็นสองล้อที่มีความเร็วมาจนถึงทุกวันนี้ 

จะว่ายน้ำ 1.9 กม. ปั่นจักรยาน 90 กม. วิ่ง 21.1 กม. ต่อเนื่องกันให้ได้ใน cut off 8 ชม. 30 นาทีครั้งแรก ไม่ได้กินอาหารมื้อปกติ 2 มื้อ ตอนอายุ 57 ด้วยประสบการณ์ 2 ปีนี้ จะหวังไปตายเอาดาบหน้า หวังโชคช่วยหรือความบังเอิญไม่ได้ แต่จะต้องฝึกหนัก เตรียมตัวและวางแผนให้ดี ผมขอเขียนถึงการเตรียมตัวสำหรับสนามนี้มากหน่อยครับ เพราะ มันสำคัญกว่าตอนแข่งด้วยซ้ำ

หลังตัดสินใจสมัครตั้งแต่สิงหาคม 2562 ผมมีเวลาเตรียมตัว 6 เดือนเต็ม นอกจากจะต้องซ้อมเพิ่มระยะทางในกีฬาแต่ละประเภทแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมต้องทำเพิ่มขึ้นต่างหาก คือ [ออกกำลังกล้ามเนื้อแกนหลัก core muscle exercise] ซึ่งผมไม่เคยสนใจ ไม่เคยฝึกมาก่อน แต่มันจำเป็นมากสำหรับการออกกำลังนานหลายชม. แบบนี้ เพื่อให้ยังก้มตัวปั่นจักรยานต่อเนื่องได้ประมาณ 4 ชม. ซึ่งเดิมแค่ 2 ชม. ผมก็ปวดหลังแล้ว และเพื่อให้ยังก้าวขาวิ่งต่อได้อีกไม่ต่ำกว่า 2 ชม.​ หลังปั่นจักรยานมาจนกล้ามเนื้อล้าหมดแล้ว

ผมต้องเขายิมเพื่อฝึกกล้ามเนื้อแกนหลัก สัปดาห์ละ 1- 2 ครั้ง ๆ ละประมาณ 30 นาที ตั้งแต่ 30 กันยายน 2562 ผลจากการฝึกส่วนนี้ เห็นผลชัดเจนในทุกกีฬา 
ว่ายน้ำ ผมว่าย 3000 ม. ทุกสัปดาห์อยู่แล้ว ซึ่งเกินระยะที่ต้องการ แต่สิ่งที่ได้มา คือ กำลังแขนในการกวาดน้ำแต่ละครั้งดีขึ้น ความเร็วยังเท่าเดิม ประมาณ 2.20-2.35 นาที/ 100 ม. แต่เหนื่อยน้อยลง ทำให้พอขึ้นจากน้ำ ยังทำอย่างอื่นต่อได้สบาย ๆ 
ปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของผม จากระยะ 40-50 กม. ที่ปั่นอยู่เดิมแล้วเมื่อยหลังเมื่อยก้นต้องพักนาน ค่อย ๆ เพิ่มระยะขึ้นทีละน้อยได้ทุกสัปดาห์ แต่มีพักครึ่งทุกครั้งเพื่อกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมไว้ ผมสามารถปั่นระยะทางตามเป้า คือ 90 กม. ครั้งแรกได้ตอนกลางเดือนธันวาคม โดยพักยืดเส้นยืดสายช่วงสั้น ๆ ไม่ต้องพักยาวเหมือนเมื่อก่อน แล้วซ้อมระยะนี้ทุกสัปดาห์ได้ 4 ครั้ง pace 22-23 กม./ชม. ใช้เวลาประมาณ 4 ชม. มาตลอด หลังจากนั้น ผมเปลี่ยนมาลดระยะทางปั่นลงเป็น 60 กม. แต่ต่อด้วยวิ่งขึ้นเนินอีก 10 กม. แทน เพื่อความเคยชินเวลาเปลี่ยนกีฬา
วิ่ง ผมวิ่งอย่างเดียวได้ระยะ 21.2 กม. ​มาตั้งแต่กลางปี 2562 อยู่แล้ว แต่ไม่เคยวิ่งขึ้นเนิน วิ่งระยะนี้ต่อจากปั่น และไม่เคยวิ่งกลางแดดตอนเที่ยงมาก่อน เลยซ้อมเปลี่ยนจากวิ่งแนวราบมาเป็นวิ่งขึ้นควนมดแดงในม.อ. กับเนินมนัสแถวบ้าน แล้วซ้อมวิ่งตอนเที่ยงบ้าง เรียกว่า จำลองทั้งเส้นทางและเวลาการวิ่งขึ้นเขาสามมุกสามรอบของสนามนี้เลย แถมเวลาเข้ายิม ก็แอบซ้อมเดินบนลู่ ตั้งความชัน 15% เอาไว้เป็นแผนสองเผื่อวิ่งไม่ไหว ซึ่งทุกเรื่อง ผมทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถวิ่งขึ้นเนินมนัสแถวบ้าน 2 รอบหลังจากปั่นจักรยานมาแล้ว 60 กม.

ผมเดินทางมาก่อนล่วงหน้า 1 วันเพื่อลงทะเบียน ช่วงเช้ามีโอกาสขับรถวนดูเส้นทางปั่นฉบับเต็ม พอเห็นแล้วแทบถอดใจ ที่บอกว่า flat ..มันไม่ใช่ มีปั่นขึ้นสะพานลอยข้ามถนน 5 แห่ง ไปกลับก็ 10 แล้ว แถมมีเนินไม่รับเชิญอีกไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง แต่ที่สยองสุด ๆ คือ ลมแรงมาก มีพายุทรายน้อย ๆ ตรงช่วงสุสานปากทางเข้าสวนสัตว์เปิดเขาเขียวอีก ตอนกลับมาฟัง race brief ก็มีเตือนเรื่องกระแสลมแรง ที่ผมกังวลคือ ตอนซ้อมผมทำเวลาประมาณ 4 ชม.​ ถ้ามาเจอลมต้านแบบนี้ ผมอาจจะหลุด cut off ช่วงปั่น 4 ชม. 20 นาทีได้ แต่เอาวะ..ลองดูสักตั้ง  คืนก่อนแข่งผมเข้านอนตั้งแต่ 3 ทุ่ม มาตื่นอีกทีตี 4 เลย แล้วก็กินไข่ต้มที่ทาง Double Ninth Friendly Boutique Hotel [2] จัดให้ 3 ฟอง กับอินทผลัม 5 ลูก แล้วถ่ายอุจจาระสบาย ๆ

แต่พอจะออกจากห้อง... Garmin Forerunner 935 ที่ผมชาร์จไว้ เวลามันค้างอยู่ที่ 05.02 ช้ากว่าเวลาจริงไป 10 นาที ..นาฬิกาไม่เดิน ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน ..ลางไม่ดีซะแล้ว ผมต้องกดปุ่มปิดเครื่องแล้วเปิดใหม่ ..โอเค ถึงได้ขับรถออกมาสนามแข่ง

ขอบคุณภาพจาก https://www.ironman.com
ขอบคุณภาพจาก https://www.finisherpix.com
ว่ายน้ำ 
ระยะทาง 1.9 กม.
เวลา 44:58 นาที
Pace 2:22 นาที/100 ม.
เส้นทางว่ายน้ำตามเข็มนาฬิกาเป็นรูปสามเหลี่ยม ช่วงเข้าออกจากฝั่งด้านละ 700 ม. ช่วงขนานฝั่งด้านนอก 500 ม. วันนี้น้ำทะเลจัดว่าสงบ ทั้ง ๆ ที่สัปดาห์ก่อนหน้านี้มีคลื่นและมีข่าวเรื่องแพลงตอนบูม ผมใส่หมวกสีฟ้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่สาม (pace 2-2.5 นาที/ 100 ม.) การทยอยปล่อยตัวแบบ rolling start ชุดละ 4 คน ทุก 5 วินาที ทำได้เร็วมาก รอไม่นานเลย 06.41 น. ผมก็ได้ลงทะเลแล้ว ที่สำคัญ ลงแบบสบาย ๆ ไม่เจอดงปลาตีนเหมือนการแข่งขันที่ผ่านมา ผมเริ่มด้วยว่ายกบช้า ๆ ให้ชินน้ำกับทิศทางก่อนไม่นาน แล้วเปลี่ยนเป็นฟรีสไตล์ได้เลยแบบทางโล่ง นึกอยู่ในใจว่า การจัดการแข่งขันที่ดีแบบนี้ มันสำคัญมากทั้งเรื่องความปลอดภัยและยุติธรรม น้ำทะเลช่วงแรกค่อนข้างนิ่งพอ ๆ กับน้ำในสระ แต่พอเลยฝั่งออกไปช่วงน้ำลึก มีคลื่นท่วมหัวเข้าหน้าเข้าปากบ้าง แต่ความที่นักกีฬาไม่กระจุกตัว จึงว่ายได้สบายจริง ๆ ผมว่ายน้ำครั้งนี้ด้วยความรู้สึกขอบคุณทะเลบางแสนที่เคยโอบอุ้มประคองผมให้กล้าและมั่นใจว่ายน้ำจนเป็นเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ขอบคุณผู้จัดที่ดูแลเรื่องนี้ได้ดี ช่วงที่ว่ายขนานกับฝั่ง ผมเริ่มว่ายแซงกลุ่มหมวกสีเขียวและหมวกพิเศษสีทอง ซึ่งเป็นกลุ่มก่อนหน้าได้หลายคน จนหันเข้าฝั่ง น้ำทะเลเข้าหน้าเข้าปากบ่อยขึ้น เลยเปลี่ยนจากหายใจ 1 ต่อ 2 stroke เป็น 1 ต่อ 4 stroke เหมือนตอนว่ายในสระแทน ซึ่งก็ช่วยให้ทำเวลาได้ดีขึ้นอีก

Transition 1
เวลา 08:11 นาที
จากชายหาด ช่วงที่ต้องวิ่งเข้า transition ไม่ไกล แต่ระยะทางใน transition ยาวน่าดู ผมยก Forerunner 935 ขึ้นมาดู ..หยุดจับเวลาไปเองอีกแล้ว อาการเดิมเวลาลงน้ำแบบ open water ทุกครั้ง..แป่ว ผมใช้เวลาเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวไม่นาน แล้วกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมานิดหน่อย ต่อด้วยอินทผลัมคว้านเม็ดที่เตรียมไว้ตามคำแนะนำของน้องยักษ์..ศราวุธ ​อินทนิล OSK103 ซึ่งมันดีมาก ๆ เลย เพราะเทกรอกใส่ปากรวดเดียว 3 เม็ด ไม่ต้องกลัวสำลักหรือคายเม็ดทีหลัง แล้วลากจักรยานออกไปได้เลย แต่ก็มาเจอปัญหาเจ้าเดิมอีก จะกดปุ่มนาฬิกาเริ่มจับเวลาตอนปั่นใหม่ไปเลย แต่กดไม่ได้ มันทำเรื่องอีกแล้ว จะเป็นเพราะผมใส่ถุงมือก็ไม่น่าจะใช่ เพราะใส่ถุงมือนี้กดก่อนปั่นตอนซ้อมได้ทุกครั้ง เอา..ไม่จับไม่เป็นไร ขอแค่ดูเวลาก็พอ แต่หน้าจอก็ค้างอีก ไม่ใช่หน้านาฬิกา อยากซัดมันทิ้ง..แต่เสียดาย ผมต้องเข็นจักรยานหลบข้างทาง ปล้ำกับมันอยู่นาน จนจอนาฬิกาขึ้น ถึงได้ออกไปปั่น ..กลุ้ม

ขอบคุณภาพจาก https://www.ironman.com
ขอบคุณภาพจาก https://www.finisherpix.com
จักรยาน
ระยะทาง 90 กม.
เวลา 3:40:38 ชม.
Pace 24.47 กม./ชม.
งานนี้ ผมปั่นเสือหมอบ Mosso [3] คันเดิม วางแผนหนี cut off ด้วยสูตร 8-10-12 หมายถึง ต้องออกจาก transition ก่อน 08.00 น. ต้องถึงจุดกลับตัว 45 กม. ก่อน 10.00 น. และต้องปั่นจบก่อน 12.00 น. เผื่อไว้เร็วกว่าเวลา cut off ประมาณครึ่งชม. ก่อนปั่นผมเหลือบดูนาฬิกา 07.35 น. ใจชื้นหน่อย ได้กำไรเวลาจากว่ายน้ำมาเกือบครึ่งชม. ซึ่งหมายถึงมีเวลาปั่นนานขึ้นตามนั้น

ออกจาก transition แล้ว พอเลี้ยวซ้ายเข้าถนนข้าวหลามก็เจอเลยครับ ..ลมสวน ตรงตามที่ race brief เตือนไว้ ขนาดผมปั่นช้า ยังรู้สึกว่าล้อรถเรามันมีแรงปัดไปมา เลยต้องลดความเร็วชิดซ้ายตลอด ไม่สนว่าใครจะแซงไปฟิ้ว ๆ ยังไง ผมมาแข่งกับตัวเอง แล้วตั้งสติ สองมือจับแฮนด์ให้มั่นพยายามทำความคุ้นเคยกับมัน พอเริ่มชิน โอ..ข้างหน้า ต้องปั่นขึ้นสะพานลอยข้ามถนนแรกแล้ว ผมผ่านช่วงแรกบนเส้นถนนข้าวหลามกับ 3 สะพานลอยและลมสวนมาได้แบบอะดรีนาลีนพลุ่งพล่านสุด ๆ ผ่านเพื่อนนักกีฬาที่ต้องจอดข้างทางมาสองคน ผ่านช่วงนี้มาได้รู้สึกโล่งอก แต่เหนื่อยและตื่นเต้น แค่สิบโลเองเหรอ

ลงสะพานลอยเลี้ยวซ้ายเข้าทางคู่ขนานกับมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 อีก 5 กม. ช่วงนี้มีฝุ่นและลมตีซ้ายตลอดทาง มีเนินซึม ๆ 2 เนิน แต่ก็ถือว่าปั่นสบายขึ้น ยังมีใจหันไปส่งยิ้มให้ตำรวจที่มายืนเป็นระยะถี่มาก ๆ ได้  ก่อนลงเนินยาว ฉีกซ้ายเข้าถนนเส้นไปวัดเขาไม้แดง ทางไปสวนสัตว์เขาเขียว

เส้นทางช่วงถัดมาอีกประมาณ 10 กม. เป็นถนนนอกเมือง 2 เลน ผ่านป่ายางไร่มันและชุมชนเป็นช่วง ๆ คล้ายกับเส้นทางปั่นซ้อมแถวบ้าน คือ เป็นเนินและสภาพถนนแบบรวมมิตรไม่เรียบเท่าไร เหมือนจะคุ้นเคยแต่ไม่ ที่ต่างคือ ลมแรงมาก นอกจากต้องขึ้นเนินเอาเรื่อง 2 แห่งแล้ว ตรงประมาณ กม.ที่ 20-25 จะมีพายุทรายพัดมาให้ระทึกใจ กระแสลมไม่แรงแต่มันได้สัมผัสแตกต่าง จินตนาการก็ประมาณ ฝ่านรกพายุทะเลทราย

ผ่านจุดเสี่ยงมาได้ทั้งหมด ทำให้มั่นใจขึ้น กังวลแต่เรื่องเวลาเท่านั้น พอขึ้นสะพานลอยข้ามมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 กลับมาปั่นรอบอ่างเก็บน้ำบางพระ สำหรับ 20 กม. ช่วงนี้ ทั้งสภาพถนนที่โล่งขึ้นและแรงลมที่ลดลง ทำให้ปั่นสบายขึ้น เป็นช่วงที่ต้องปั่นทำเวลาตีตื้น ผมทำเวลาช่วงนี้ได้เกือบ 30 กม. /ชม. มาถึงจุดกลับตัวตอน 09.18 น. ดีกว่าที่คิด

ขากลับเส้นทางเดิม มีช่วงไต่ขึ้นสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำบางพระที่เคยกลัว ก็ผ่านได้โดยไม่ต้องลงเข็น ตอนอยู่บนสันเขื่อน ตาม race brief ว่าจะมีลมปะทะทางซ้ายให้ระวัง ก็ไม่แรงมากเหมือนที่ผ่านมา ผมแวะจุดพักตรง กม. ที่ 53 แบบจริงจังตามแผนที่วางไว้เลย เพื่อเข้าห้องน้ำ อีตอนไปยืนฉี่บนรถสุขาเคลื่อนที่ เฮ้ย..ตรงนั้นมันไม่รู้สึกอะไรเลย น้องคงโดนกระทำโดนบดขยี้มาเกือบ 2 ชม. ดีที่ฉี่ออก เสร็จแล้วละเลียดกินเจลที่ขอจากน้องตรงนั้นมา 2 ซองแบบผู้ดีกิน กลัวมันเลอะเหมือนคราวก่อนแล้วเซ็งมาก ต่อด้วยอินทผลัมแคะเม็ดอีก 5 ตบท้ายด้วยน้ำเกลือแร่ครบถ้วน แล้วเดินยืดเส้นยืดสายอยู่กว่า 5 นาที ถึงจะออกปั่นต่อ

ขากลับถึงจะเจอเนิน พายุทรายและลมแรงเหมือนเดิม (อ่านถึงตรงนี้ เหลือบขึ้นไปมองยอดมะพร้าวในรูปข้างบนด้วยครับ) แต่พอมีประสบการณ์มาแล้ว ก็เบาใจขึ้น ผมปั่นเรื่อย ๆ ช้ากว่าขามา เพราะแดดเริ่มแรงและร้อน แล้วก็พยายามให้ปลอดภัยที่สุดทั้งรถและคน เพราะถ้ายางแตก รถเสีย ก็จบเลย ไม่มีปัญญาซ่อม หรือถ้าตะคริวจับเพราะเร่ง ก็จบเหมือนกัน เรียกว่า ใช้วิธีประคองทั้งสติและจักรยานด้วยความไม่ประมาท จนเข้า transition ได้ตอน 11.15 น.

Transition 2
เวลา 06:23 นาที
ตอนลงจากจักรยานจะเข้า transition ช่วงแรกยังวิ่งเหยาะ ๆ เหมือนคนอื่นได้สั้น ๆ แล้วเปลี่ยนใจ safe แรงไว้ดีกว่า ใน transition ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาอีกขวดจนหมด เติมด้วยอินทผลัมอีกหน่อย แล้วเอาที่ใส่ถุงพลาสติกเล็ก ๆ 3 ถุงใส่กระเป๋าหลังเสื้อเตรียมไปกินตอนวิ่ง ผมใช้เวลาใน transition ช่วงปั่นต่อวิ่งครั้งนี้นานกว่าทุกสนาม เพราะค่อนข้างมั่นใจแล้วว่า ไม่น่าจะหลุด cut off ถ้าไม่มีเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เลยไม่อยากรีบ

ขอบคุณภาพจาก https://www.ironman.com
ขอบคุณภาพจาก https://www.finisherpix.com
วิ่ง
ระยะทาง 21.1 กม.
เวลา 2:54:26 ชม.
Pace 8.16 นาที/กม.
งานนี้ เส้นทางวิ่งคือ รอบเขาสามมุก 3 รอบตามภาพข้างบน แต่ปรับทิศเป็นทวนเข็มนาฬิกาแทน ตรงข้ามกับในรูป ปีนี้ผู้จัดตัดช่วงชันจัดที่อยู่ตรงกลางแบบปีก่อนออกไป ..เสียดาย.. เปล่าครับ โคตรดีใจเลย

รอบแรกผมวิ่งมากกว่าเดิน รอบสองวิ่งพอ ๆ กับเดิน รอบสามเดินเป็นส่วนใหญ่ เก็บแรงเอาไว้วิ่งปิดช่วง กม. สุดท้ายก่อนถึงเส้นชัยสวย ๆ ตามเดิม ตลอดเส้นทาง ผมแวะจุดให้น้ำทุกจุด เพื่อกินน้ำเปล่า น้ำเกลือแร่ น้ำอัดลม เจล ขนมและผลไม้สารพัดสลับไม่ให้ซ้ำ โดยควักอินทผลัมที่พกมาเทใส่ปากแล้วกลืนถุงละรอบตามที่เตรียมไว้ การแวะกินเรื่อยแบบนี้ดีนะ..ไม่จุกไม่หิว ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กินอาหารมื้อหลักทั้งเช้าและเที่ยงตามที่กลัวมาก่อน มีประเด็นเรื่องผลไม้นิดนึง ผมเลือกกินแตงโมชิ้นก่อนและกินบ่อยกว่าผลไม้อื่น แต่ปรากฏว่า พอขึ้นรอบสอง ก็รู้สึกปั่นป่วนในท้องเล็กน้อย เหมือนข้าศึกมาประชิดประตูหลัง เลยกลัวแตงโมตากแดด ต้องเปลี่ยนไปกินอย่างอื่นแทน แถมสนามนี้มีบริการไอศกรีมแท่งอีกต่างหาก ผมสู้สุดใจเลยเพื่อสิ่งนี้ โดยรวมพอรู้ว่าไม่หลุด cut off แล้ว ผมก็ไม่กดดันตัวเองอีก พยายามประคองถนอมตัวเองไม่ให้เจ็บมากกว่า ที่ซ้อมวิ่งขึ้นเนิน เดินลู่ชันมา ไม่ได้ควักออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เพราะถ้าฝืนแล้วตะคริวจับก็จบ ผมเปลี่ยนเป็นใช้เวลาเดินดูทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากของที่นี่ ..หาดบางแสนเขาสามมุข และ..ตัวเอง  heart rate มีทุก zone ตั้งแต่ 1 ยัน 5 แต่ส่วนใหญ่อยู่ที่ zone 2-3 มี peak ขึ้นไปที่ 178 ช่วงวิ่งขึ้นเนินในรอบแรกครั้งเดียวเท่านั้น

ขอบคุณภาพจาก https://www.finisherpix.com

รวมเวลา 7:34:34 ชม.
โดยรวมก็นับว่า ทำเวลาได้ตามแผนที่วางไว้ คือ 7 ชม. ครึ่ง เรื่องว่ายน้ำทำได้ดีมาก นับเป็นประสบการณ์ว่ายน้ำในไตรกีฬาที่ดีที่สุดของผมเลยทีเดียว เรื่องปั่น ถึงจะปั่นได้ช้ากว่าทุกสนาม แต่ก็ดีกว่าที่ซ้อมมานิดนึง มาเจอลมแรงแบบนี้ ได้แค่นี้ถือว่าพอใจมากแล้วที่จบแบบไม่เจ็บ รถไม่พัง ก็มีแต่เรื่องวิ่งอย่างเดียวที่ไม่ได้ทำตามซ้อม หลังมั่นใจว่าไม่หลุด cut off แล้วแน่ เลยเดินมากไป ก็คงต้องกลับไปซ้อมให้มั่นใจกว่านี้ ตั้งธงไว้ที่ Sub 7

Links:
[1] https://www.m-culture.go.th/chonburi/images/khaosammook.pdf