2022-05-15

O+: โรโบแมน 2565: ระยอง - Roboman 2022: Rayong

 O+: ระยะ:ซุเปอร์โอลิมปิก - Super-Olympic distance

โรโบแมน 2565: - Roboman 2022
หาดพลา ระยอง - Phla Beach Rayong


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
ประชาสัมพันธ์การแข่งขันทาง Facebook [1] และเปิดให้สมัคร online ก่อนล่วงหน้าเกือบ 3 เดือน กำหนดวันแข่ง สถานที่ และข้อมูลการแข่งขันที่แจ้งก่อนล่วงหน้าละเอียดดีมาก แจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่และเส้นทางการแข่งขันก่อนแข่งจริงประมาณ 1 สัปดาห์
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยและภาคอังกฤษชัดเจนได้ยินทั่วถึงบริเวณที่จัดงานและเป็นกันเองดี แต่ควรมีแผนผังแสดงพื้นที่จัดงาน เช่น จุดลงทะเบียน ลานจอดรถ อาหาร สุขา สินค้า ติดตั้งไว้หลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าออก ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นได้ชัดเจน 
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
สถานที่จอดรถมีหลายแห่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่จัดงาน พื้นที่กว้างขวางเพียงพอ แต่เจ้าหน้าที่จัดการไม่เพียงพอในช่วงก่อนงานที่รถเข้ามาจำนวนมาก ไม่มีบริการขนส่ง
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
ในวันลงทะเบียนมีการชี้แจงรายละเอียดเส้นทางการแข่งขัน จุดเสี่ยงและกฏกติกาต่าง ๆ ดีมากในภาคไทย แต่ภาคอังกฤษแปลไม่ทันและไม่ครบถ้วน ไม่มีเอกสารหรือถ่ายทอดทาง Facebook Live สำหรับผู้ไม่สามารถเดินทางมารับฟังในงาน
การลงทะเบียน การจัดการ
การจัดการลงทะเบียนตามมาตรการป้องกันโควิดเป็นระบบ รวดเร็วดีมาก การใช้พื้นที่จัดงานทำได้ดี บริการต่าง ๆ ไม่ต้องรอคิวนาน
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
เส้นทางมีแนวทุ่นชัดเจนและมีทีมดูแลความปลอดภัยดีมาก ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยโดยอนุญาตให้นักกีฬาใช้ buoy ได้ แต่ไม่เข้มงวดให้ผู้ใช้ buoy ต้องลงน้ำหลังสุดในกลุ่มตามที่ชี้แจงไว้ และการปล่อยตัวไม่ได้แยกเป็น wave ย่อย ทำให้นักกีฬาหนาแน่นพอสมควร
ความปลอดภัย-จักรยาน
เส้นทางปั่นถึงจะไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด แต่นับว่าควบคุมและปิดกั้นการจราจรได้ดี ถึงแม้ช่วงท้ายของการแข่งขันจะมีการจราจรหนาแน่นขึ้น และมีรถแทรกเข้ามาบ้าง นักกีฬาต้องใช้ความระมัดระวังเอง เส้นทางสะอาดเรียบร้อย มีป้ายแสดงระยะทาง จุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก กำกับเส้นทางอย่างดีตลอดเส้นทาง 
ความปลอดภัย-วิ่ง
เส้นทางวิ่งไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด แต่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมได้ปลอดภัยดี มีป้ายแสดงจุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจน แต่บางช่วงเป็นซอยขนาดเล็กในชุมชน การแข่งขันไปสร้างขยะและอาจรบกวนวิถีชีวิตปกติของชาวบ้านพอสมควร เส้นทางช่วงสะพานปลาพื้นผิวขรุขระมาก ต้องใช้ความระมัดระวังสูง
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่จุดเปลี่ยนอุปกรณ์ค่อนข้างแคบ การควบคุมการเข้าออกทั้งก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขันทำได้ดี การให้ทยอยเข้าพื้นที่เป็นเวลานานทำให้นักกีฬาไม่แออัด 
การแพทย์
การเฝ้าระวัง การป้องกันโควิดบริเวณจัดงานทำได้ดี แต่การให้นักกีฬาจำนวนมากมายืนรวมกลุ่มรอที่จุดปล่อยตัวว่ายน้ำชนิดหายใจรดต้นคอกันโดยส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากาก และไม่มีจุดทิ้งหน้ากากก่อนลงน้ำ ก็ทำให้ความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อกลุ่มมากขึ้น ถึงจะเป็นช่วงระบาดขาลงแล้วก็ตาม ส่วนการบริการทางการแพทย์มีการเฝ้าระวังดี ทั้งระหว่างเส้นทางและที่ส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของพี่มิงค์..นพ.ธวัชชัย เลิศหิรัญวงศ์ OSK83 ซึ่งเสียชีวิตหลังการว่ายน้ำด้วยครับ
อาหาร เครื่องดื่ม
จุดให้น้ำในเส้นทางจักรยานมีจุดเดียวแต่เพียงพอและบริการดี จุดให้น้ำในเส้นทางวิ่งมีสองจุดที่อยู่ตรงข้ามกันก่อนถึงสะพานปลาตรงชุมชนชาวประมงทำให้พื้นแฉะน้ำ ฟองน้ำสำหรับคลายร้อนมีไม่เพียงพอสำหรับนักกีฬา Super-Olympic ซึ่งมาถึงทีหลัง ไม่มีอาหารและผลไม้บริการ เครื่องดื่มมีไม่เพียงพอ แต่การบริการดีมาก อาหารบริเวณส่วนกลางที่จัดเป็นชุด ๆ ให้นักกีฬาหยิบเอง มีเพียงพอ ไม่แออัด จัดการเรื่องคิวและป้องกันโควิดได้ดีมาก

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Super-Olympic ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป


สถานการณ์โควิดทำให้การแข่งขันไตรกีฬาถูกงดไปเกือบ 2 ปี งานนี้นับเป็นงานแรก ๆ ที่จัดขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค หลายคนจึงตั้งตารออย่างใจจดใจจ่อ รวมทั้งผมด้วย ซึ่งถ้านับจาก [ไตรกีฬานาวี ระนอง] ที่ไปเป็นรายการสุดท้ายเมื่อปลายปี 2563 ก็ทิ้งสนามมาปีครึ่งพอดี  ผมตัดสินใจสมัครระยะ Super-Olympic เพราะคิดว่า ไหน ๆ ก็ผ่าน [IM70.3 Bangsaen] มาแล้ว ระยะที่เพิ่มจาก Olympic มาตรฐานอีกไม่มาก ก็น่าจะพอไหว และยังมีเวลาเตรียมตัวตั้ง 3 เดือน แต่สิ่งที่กังวลคือ เวลาตัดตัวที่กำหนดไว้ตอนแรก 5:20 ชม. นั้น มันเร็วไป โชคดีที่พอถึงวันแข่ง ลดระยะทางลง และขยายเวลาตัดตัวเป็น 6:30 ชม. ก็ทำให้กดดันน้อยลงมาก คงเหลือแต่เรื่องลมกับแดดชายทะเลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เท่านั้น

ช่วงจัดงานเป็นวันหยุดยาว ทำให้รถติดยาวบน motorway เพราะคอขวดที่ด่านบางปะกง อุบัติเหตุและการก่อสร้างหลายจุด จึงต้องใช้เวลาเดินทางนานขึ้นจาก 2 ชม. เป็น 3 ชม. กว่า ถึงที่พักที่สิรินพลารีสอร์ต[2]ก็ยังเข้าห้องพักไม่ได้ ต้องรอบ่ายสองอีก ผมจึงต้องฆ่าเวลาขับรถดูเส้นทางปั่น ทำให้รู้ว่า ช่วงแรกเป็นเนินซึมยาวจนถึงจุดกลับตัวใกล้ถนนสุขุมวิท และเส้นทางส่วนใหญ่เป็นทางราบ มี rolling และเนินไม่ชันนัก มีจุดหักโค้งแล้วลงขึ้นเนินที่หาดพยูนอยู่แห่งเดียว หลังจากเข้าที่พักแล้ว ผมทดลองเดินเลียบชายหาดจากที่พักไปที่จัดงานใหม่ตรงเทศบาลตำบลพลา ห่างไป 300 เมตรเท่านั้นเองใช้เวลาเดินประมาณ 15 นาที แต่ต้องไต่เนินทรายขึ้นลงและมีขยะสกปรก ไม่น่าจะปลอดภัยถ้าจะเดินไปตอนเช้ามืดวันแข่ง หลังฟัง race brief เสร็จ เดิมตั้งใจว่าจะเดินเล่นออกกำลังกับดูเส้นทางวิ่งเสียหน่อย ก็ต้องเปลี่ยนใจ เพราะรู้สึกเพลียมากเหมือนเมารถ น่าจะเป็นเพราะไม่ได้พักช่วงบ่ายหลังขับรถเครียดสุด ๆ บน motorway มา จึงไม่ได้ร่วมอาหารเย็นของที่จัดงาน แต่รีบกลับที่พัก หาของกินง่าย ๆ แล้วเข้านอนเร็วกว่าปกติ

ความรู้สึกไม่สบายทำให้นอนหลับไม่ค่อยสนิท แต่อาศัยชม.นอนนาน พอตี 4 ตื่นขึ้นมารู้สึกสบายตัวเหมือนปกติ จัดการกล้วยน้ำว้าที่ซื้อจากแผงข้างถนนไป 5 ลูก กินน้ำตุนไว้ แล้วขับรถออกไปที่จัดงาน

หลังเอาของไปเก็บที่ transition แล้วผมก็เดินออกมายืนรอที่จุดปล่อยตัวริมทะเล รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติแปลกไปจากทุกครั้ง แต่คิดไม่ออก พอเดินไปเข้าห้องน้ำถึงรู้ตัวว่า ดันใส่แว่นสายตาทำงานออกมาด้วย มิน่าถึงมองเห็นอะไรชัดไปหมด ไม่ต้องคลำทางเหมือนครั้งก่อน ๆ แล้วมันจะใส่ลงน้ำได้ยังไง ต้องวิ่งย้อนกลับไปเก็บแว่นที่ transition ตอนที่เขาประกาศปิดไปแล้ว

                ขอบคุณภาพจาก Facebook: Roboman Triathlon
                ขอบคุณภาพจาก Photo.Thai.Run
ว่ายน้ำ 
ระยะทาง 1.8 กม.
เวลา 44:12 นาที
Pace 2:27 นาที/100 ม.
เส้นทางว่ายน้ำเป็นรูปสามเหลี่ยม ระยะ Super-Olympic ต้องว่ายวนขวา 2 รอบ การปล่อยตัวไม่เป็น wave แต่แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่แยกด้วยสีหมวก ซึ่งผู้จัดบอกว่า นักกีฬาที่ต้องทำความเร็ว ให้ไปยืนแถวหน้าเอง โชคดีผมได้หมวกสีแดงปล่อยตัวเป็นกลุ่มแรก ยืนอยู่กลาง ๆ กลุ่มซ้ายสุดตามถนัด พอปล่อยตัวเดินลุยน้ำได้ไกลพอสมควรเพราะน้ำลง ก็ฉีกออกซ้ายห่างจากกลุ่มเพื่อหลบปลาตีน

อยู่ห่างจากกลุ่มใหญ่ ว่ายฟรีสไตล์ได้สบาย แต่ช่วงแรกกระแสน้ำพัดออกจากแนวทุ่น ต้องว่ายตัดกระแสน้ำเข้าขวา อาศัยจังหวะเงยหน้าหายใจด้านขวารักษาระยะจากแนวทุ่นไข่ปลาเอาไม่ยาก ห่างฝั่งออกมา ถูกคลื่นเล่นงานพอสมควร จนกระทั่งถึงทุ่นใหญ่ตรงมุมสามเหลี่ยมแรก ที่ต้องเปลี่ยนเป็นว่ายขนานชายฝั่งและต้องทวนกระแสน้ำด้วย ช่วงนี้นักกีฬาบาบาง เลยว่ายได้ดี ไม่นานก็ถึงทุ่นใหญ่ตรงมุมสามเหลี่ยมที่สอง ตอนว่ายกลับเข้าฝั่ง กระแสน้ำพัดเข้าหาแนวทุ่นไข่ปลา ขนาดพยายามว่ายฉีกออกแล้ว ก็ยังถูกกระแสน้ำพัดไปชนแนวทุ่น ไปตัดหน้านักกีฬาข้างหลังหลายครั้ง 

โล่งใจที่ถึงจุดกลับตัวขึ้นรอบสองก่อนเวลาปล่อยตัวของระยะ Super-Sprint ไม่ต้องผจญภัยดงปลาตีนของนักกีฬาอีกกลุ่ม รอบสองนี้ว่ายได้เรื่อย ๆ ได้ว่ายฟรีสไตล์มากกว่าทุกครั้ง เปลี่ยนเป็นท่ากบเฉพาะตอนเล็งทิศและอ้อมทุ่นใหญ่เท่านั้น 

ตอนว่ายเข้าฝั่งรอบสอง ผมลืมไปว่า จุดขึ้นจากน้ำกับจุดปล่อยตัวงานนี้แยกกัน ผมว่ายผิดทิศตรงไปที่จุดปล่อยตัว สักพักถึงเห็นนักกีฬาคนอื่นว่ายออกซ้ายไปขึ้นฝั่งอีกจุด ต้องว่ายตัดกระแสน้ำกลับไป เสียทั้งแรงเสียทั้งเวลา 

Transition 1
เวลา 06:41 นาที
พอถึงน้ำตื้น เปลี่ยนมาเดินลุยน้ำขึ้นฝั่ง คราวนี้ผมไม่ลืม ยังไม่ถอดแว่นว่ายน้ำสายตาสั้นออกก่อน เพราะจะต้องปีนบันไดชันขึ้นจากน้ำช่วงสุดท้าย จึงปรับสายตาได้ดีและไม่มึนหัว ก่อนเดินเร็ว ๆ เข้า transition ซึ่งผมใช้เวลานานพอสมควร พอไม่ได้แข่งนาน ลืมลำดับไปหมดและตกหล่นสิ่งสำคัญบางอย่างไป ก่อนกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาทั้งขวด แล้วลากจักรยานออกไป 

                ขอบคุณภาพจาก Facebook: Roboman Triathlon
                ขอบคุณภาพจาก Photo.Thai.Run
จักรยาน
ระยะทาง 56.5 กม.
เวลา 2:08:00 ชม.
Pace 26.50 กม./ชม.
เส้นทางจักรยานงานนี้ไม่มีเนินโหด ๆ ให้ต้องกังวล แต่ช่วงแรกแค่เพิ่งออกจาก transition ก็ต้องปั่นไต่เนินซึมยาวเกือบ 5 กม. ก่อนจะถึงจุดกลับตัวแรกใกล้ถนนสุขุมวิท ผมปั่นเสือหมอบ Mosso [3] คันเดิม ช่วงนี้ต้องปั่นไปทำใจไป เพราะถูกคนอื่นแซงตลอด พอกลับตัวเป็นขาลงเนินก็ทำเวลาได้บ้าง ช่วงนี้เป็นทางตรง แทบไม่มีรถอื่นเลย โดยรวมถือว่าปั่นสบาย ใช้แรงน่องอย่างเดียว

พอเลี้ยวซ้ายเข้าเขตชุมชน เส้นทางมีเลี้ยวไปมาและขึ้นลงเนินเป็นช่วง ๆ ผมปั่นไม่ทันกลุ่ม Super-Sprint เลยเหลือเพื่อนไม่มาก ถึงจะยังควบคุมการจราจร แต่ก็เริ่มปล่อยให้รถอื่นเข้าแทรกเป็นระยะ แถมมีรถฝ่าเจ้าหน้าที่ควบคุมอีก นักปั่นต้องเป็นฝ่ายระวังและชะลอให้รถจำพวกนี้แทน  ถึงเนินตรงหาดพยูนที่ดูเส้นทางไว้ ปั่นไม่ยาก อาศัยแรงส่งตอนลงเนินแล้วปั่นขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ โดยรวมนับว่าถนนสะอาดสวยงาม ปั่นต้องอาศัยทักษะบ้าง แต่สนุกดี 

ถึงจุดกลับตัวที่สองและเป็นจุดให้น้ำเพียงจุดเดียวก่อนถึงมาบตาพุด ยังรู้สึกสบาย จึงไม่แวะกินน้ำ ปั่นต่อกลับเส้นทางเดิมจนถึงจุดกลับตัวที่สาม ครบรอบแรกยังไม่ถึงแปดโมง ก่อนเวลาตัดตัวเป็นชม. ไม่กดดันแล้ว เพราะคงไม่ DNF แน่ ถ้าไม่มีเหตุคาดไม่ถึง

แต่พอขึ้นรอบสอง ก็เริ่มรู้สึกถึงความแตกต่าง เนินซึมยาวที่รอบแรกผ่านสบาย ต้องพยายามมากขึ้น ออกแรงมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น เริ่มรับรู้อะไรที่ขัดใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแดดที่เพิ่งรู้สึกร้อน ทั้ง ๆ ที่มันคงร้อนมาตั้งแต่ต้น เหงื่อที่โชกผ้าโพกหัวไหลหยดเข้าตา แล้วก็แว่นสายตาที่ตกลงถึงปลายจมูก เพราะลืมรัด[สายรัดแว่น]ให้แน่นตอนอยู่ใน transition ทำให้ต้องเงยคอมองทางจนเมื่อย ทุกอย่างดูเหมือนจะประดังเข้ามา แล้วหนักที่สุดคือ เฮ้ย.. ตะคริวกินสองน่องเลย ผมไม่เคยเป็นตะคริวตอนปั่นแบบนี้มาก่อน งานนี้เกร็งมากไป.. นานไป

ต้องเปลี่ยนเป็นปั่นแบบท่องเที่ยวกินลมชมวิวแทน ประคองตัวจนผ่านจุดให้น้ำที่มาบตาพุด ได้หยุดพักกินน้ำตามแผนที่วางไว้ ไม่ได้ปั่นไปกินไปแบบคนอื่น พอได้น้ำ รู้สึกสดชื่นขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น แล้วปั่นครบรอบสองกลับ transition แบบไม่เกิดอะไรมากไปกว่านั้น

heart rate ผมอยู่ใน zone 3 เป็นส่วนใหญ่ 69% มีขึ้นไป zone 4 26% มา peak ที่สุดที่ 175 ตอนปั่นรอบสองหลังอุณหภูมิขึ้นไป 35C ตอนถึงจุดสูงสุดของเนินซึม 

Transition 2
เวลา 03:14 นาที
ตอนลงจากจักรยานจูงเข้า transition รู้สึกขาปัดเล็กน้อย จุดอ่อนเป็นเรื่องกำลังขา แต่ไม่เหนื่อย ใน transition ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาอีกขวดจนหมด แล้วพกขนม angel ball [4] ใส่กระเป๋าไป 3 ลูกไว้กินกลางทาง 

               ขอบคุณภาพจาก Facebook: Roboman Triathlon
                ขอบคุณภาพจาก Photo.Thai.Run
วิ่ง
ระยะทาง 14.8 กม.
เวลา 1:54:57 ชม.
Pace 7.46 นาที/กม.
งานนี้ ผมชอบมากที่ผู้จัดจงใจให้เส้นทางวิ่งผ่านชุมชนริมหาดพลา ผ่านตลาด ร้านค้า ที่พักอาศัย ได้เห็นได้กลิ่นของกินยั่วน้ำลายตลอดทาง ผ่านวัดที่กำลังมีงานบุญวิสาขบูชาพอดี ผ่านหมู่บ้านชาวประมงที่กำลังง่วนกับของทะเลสด ๆ และที่สุดยอด คือ สะพานปลายื่นไปในทะเล บรรยากาศดีสุด ๆ แต่พื้นขรุขระมากโดยต้องวิ่งทั้งหมด 4 รอบ

รอบแรก แค่ออกจาก transition ก็รู้สึกไม่ค่อยอยากวิ่งแล้ว อากาศร้อนจัด ที่ซ้อม brick แก้จุดอ่อนช่วงรอยต่อปั่น-วิ่งมาแล้ว ถึงตอนนี้ขอเดินก่อน ต่างจากงานก่อน ๆ ที่ช่วงแรกก็ออกวิ่งเลย ปลอบใจตัวเองว่า เดินพักสักหน่อยเดี๋ยวค่อยวิ่ง แต่พอออกวิ่งก็รู้สึกโหย ต้องกลับมาเดินต่อ ช่วงที่ผ่านร้านของกิน ควัก angel ball ลูกแรกออกมากินเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้ จนมาถึงจุดให้น้ำซึ่งมีเพียงสองจุด แต่อยู่ตรงข้ามกันก่อนถึงสะพานปลา หงุดหงิดเหมือนกันที่ฟองน้ำหมดแล้ว ...ก็มันร้อน ได้แต่น้ำเกลือแร่ขวดมาดื่มดับกระหาย ก่อนจะวิ่งออกไปสะพานปลา พื้นซีเมนต์ขรุขระมาก ถ้าวิ่งก็เสี่ยงเท้าพลิก ก็กลับมาเดินอีก โดยรวมแล้วรอบแรกเดินมากกว่าวิ่ง

รอบสองและสาม วิ่งได้มากขึ้น ถึงจุดให้น้ำ ใช้วิธีขอน้ำเปล่าเย็น ๆ มาขวดนึง เทราดหัวราดตัวดับร้อนครึ่งขวด ที่เหลือเดินกินไปช้า ๆ บนสะพานปลา เพราะยังไงก็วิ่งไม่ได้อยู่แล้ว ถือเป็นช่วงพักชมวิวไปในตัว พอได้น้ำดับร้อนแบบนี้ ค่อยสดชื่นขึ้น สนใจวิถีชีวิต ทักทายชาวบ้านข้างทางมากขึ้น แต่ไม่วายได้ยินเสียงบ่นของชาวบ้านเรื่องขยะเกลื่อนทางหน้าบ้านเขา ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เดี๋ยวคงมีทีมงานของผู้จัดไปตามเก็บให้ แต่ถ้าจัดการดีกว่านี้ มีถังทิ้งขยะมากกว่านี้ ก็จะได้ไม่เสียความรู้สึกและไม่เหนื่อยแรงทีมงานด้วย รอบสองและสามนี้เดินพอ ๆ กับวิ่ง 

รอบสี่ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย รู้สึกมีแรงวิ่งมากขึ้น บนสะพานปลาช่วงที่พื้นราบก็ยังขอวิ่ง เพราะเหลือบดูนาฬิกาแล้ว ยังพอมีสิทธิลุ้น sub5 ใช้เวลารวมน้อยกว่า 5 ชม. ได้ รอบนี้วิ่งได้เกือบตลอด

โดยรวม heart rate อยู่ใน zone 2, 3 และ 4 เท่ากันเลย โดยไม่มี zone 5  peak สูงสุดขึ้นไป 164 

                ขอบคุณภาพจาก Photo.Thai.Run

รวมเวลา 4:56:58 ชม.
หลังจากหยุดแข่งมาปีครึ่ง งานนี้นับเป็นการเคาะสนิมคืนสนามครั้งแรก ระยะ Super-Olympic นี้ท้าทายพอสมควร เพราะระยะทางอยู่ระหว่างระยะ Olympic กับ half IM  ว่ายน้ำทำได้ดีตามเป้า ว่ายฟรีสไตล์ได้มากกว่าทุกครั้ง ช่วงปั่นจักรยานกลายเป็นปัญหา เจอตะคริวกินบนอานเป็นครั้งแรก แถมหมดแรงตอนรอบสองอีก สาเหตุน่าจะเป็นอากาศร้อน แล้วขาหมดแรงเร็วกว่าที่คิด  ส่วนวิ่งถือว่าเสมอตัว รอบแรกทำได้ไม่ดีเลย มาตีตื้นรอบหลัง โดยรวมก็ได้ตามเป้า คือ sub5 แต่ถ้านับระยะปั่นและวิ่งที่ได้ส่วนลดจากผู้จัด ก็อาจจะตกเป้าไปเล็กน้อย