O: ระยะ:โอลิมปิก - Olympic distance
อเมซิ่งเรซและไตรกีฬา: - Amazing Race Festival & Triathlon
หาดลำปำ พัทลุง - Lum Pum Beach Phatthalung
ไม่มีข้อมูล ไม่ดี ควรปรับปรุง ดี พอใจ ดีมาก ประทับใจ
การประชาสัมพันธ์ก่อนงานประชาสัมพันธ์การแข่งขันทาง Facebook [
1] ก่อนล่วงหน้างานแค่ 2 สัปดาห์ และหลังจากนั้นเปิดให้สมัคร online 3 วัน ค่อนข้างกระชั้นมาก ถ้าประชาสัมพันธ์นานกว่านี้ น่าจะมีคนเข้าร่วมมากกว่านี้ แต่กำหนดวันแข่ง สถานที่ และข้อมูลการแข่งขันที่แจ้งก่อนล่วงหน้าละเอียดดีมาก
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยและภาคอังกฤษชัดเจนได้ยินทั่วถึงบริเวณที่จัดงานและเป็นกันเองดี แต่พื้นที่จัดงานค่อนข้างกว้าง และมีการแข่งขันหลายประเภทมาก ควรมีแผนผังแสดงพื้นที่จัดงาน เช่น จุดลงทะเบียน ลานจอดรถ อาหาร สุขา สินค้า ติดตั้งไว้หลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าออก ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นได้ชัดเจน
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
สถานที่จอดรถอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่จัดงาน พื้นที่กว้างขวางเพียงพอ แต่ถนนทางเข้าที่จอดรถค่อนข้างแคบ การจราจรติดขัดในช่วงที่รถเข้ามาจำนวนมาก มีรถสองแถวบริการจากในตัวเมืองพัทลุงแต่มีค่าใช้จ่ายคนละ 20 บาท
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
ไม่แน่ใจว่าในวันลงทะเบียนมีการชี้แจงรายละเอียดตามกำหนดเวลาหรือไม่ เพราะผมเดินทางไปไม่ทัน แต่ช่วงเช้าก่อนการแข่งขัน การชี้แจงเส้นทางการแข่งขัน จุดเสี่ยงและกฏกติกาต่าง ๆ สั้น กระชับดีมากทั้งภาคไทยและอังกฤษ โดยมีภาพให้เห็นบนจอด้วย ขำที่คุณธเนศและคุณโซเฟียต้องวิ่งไปอธิบายไป อยากให้โดนวิ่งแบบนี้อีก
การลงทะเบียน การจัดการ
การจัดการลงทะเบียนตามมาตรการป้องกันโควิดเป็นระบบ รวดเร็วดีมาก การใช้พื้นที่จัดงานทำได้ดี บริการต่าง ๆ ไม่ต้องรอคิวนาน แต่เนื่องจากมีการแข่งขันหลายประเภท และคนจัดงานให้ความสำคัญกับแขกวีไอพีที่มาร่วมงาน การปล่อยให้นักกีฬา elite ต้องมายืนรอพิธีการและดูการแข่งขันอื่นก่อนการแข่งขัน ไม่เหมาะสม
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
สถานที่แข่งขันใช้ทะเลสาบสงขลาช่วงปากแม่น้ำลำปำซึ่งไหลมาจากชุมชนด้านใน มีแนวทุ่นชัดเจนและมีทีมดูแลความปลอดภัยดีมากให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยโดยอนุญาตให้นักกีฬาใช้ buoy ได้ การปล่อยตัวนอกจากแยกตามกลุ่มความเร็วแล้ว ยังทะยอยปล่อยตัวในแต่ละกลุ่มคราวละ 4-5 คนด้วย ทำให้ไม่แออัดในน้ำ ทำได้ดีมาก
ความปลอดภัย-จักรยาน
เส้นทางปั่นใช้ทางหลวงหมายเลข 4007 ลำปำ-ทะเลน้อย ซึ่งการจราจรไม่หนาแน่น ถึงจะไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด มีรถแทรกเข้ามาบ้าง แต่มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยให้นักกีฬาได้ดีมาก เส้นทางสะอาดเรียบร้อย มีป้ายแสดงระยะทาง จุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่กำกับอย่างดีตลอดเส้นทาง
ความปลอดภัย-วิ่ง
เส้นทางวิ่งใช้การปิดทางหลวงหมายเลข 4047 ถนนอภัยบริรักษ์ขนาด 6 เลนไปครึ่งหนึ่ง แล้วปล่อยให้รถผ่านได้เป็นระยะ ไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด แต่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมได้ปลอดภัยดีมาก มีป้ายแสดงจุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจน
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่จุดเปลี่ยนอุปกรณ์ค่อนข้างแคบ เส้นทางจากบริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์ไปจุดว่ายน้ำระยะทางไกลและมีจุดต่างระดับหลายจุด การแข่งขันมีหลายประเภทและระยะโอลิมปิกต้องวน 2 รอบ ทำให้สับสนเส้นทางเข้าออกพอสมควร แต่การควบคุมการเข้าออกทั้งก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขันทำได้ดี การให้ทยอยเข้าพื้นที่เป็นเวลานานทำให้ไม่แออัด
การแพทย์
การเฝ้าระวัง การป้องกันโควิดบริเวณจัดงานทำได้ดี การบริการทางการแพทย์มีการเฝ้าระวังดี ทั้งระหว่างเส้นทางและที่ส่วนกลาง
อาหาร เครื่องดื่ม
จุดให้น้ำในเส้นทางแข่งขันมีเพียงพอ และการบริการดีมาก อาหารบริเวณส่วนกลางที่จัดเป็นชุด ๆ ให้นักกีฬาใช้คูปองแลก มีเพียงพอ ไม่แออัด จัดการเรื่องคิวและป้องกันโควิดได้ดีมาก
* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Olympic ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป
ไตรกีฬางานนี้ต้องเรียกว่า
มาเร็ว เคลมเร็ว ถ้ารุ่นน้องไม่โพสต์แจ้งในกลุ่ม OSK TRI [
2] ผมก็คงไม่ทราบ ประชาสัมพันธ์ก่อนงานก็กระชั้นมาก มีเวลาให้ลงทะเบียนฟรีไม่กี่วัน ต้องย้ำตรงคำว่า
ฟรี ด้วย
ผมต้องตัดสินใจหนักสองต่อ ทั้งจะสมัครดีมั้ย เพราะมาปาดหน้างานที่ลงทะเบียนไว้ก่อนนานแล้ว คือ
[สงขลาไตรกีฬา 2565] แค่อาทิตย์เดียว และที่หนักใจกว่า คือ สมัครไปแล้ว จะลงแข่งดีมั้ย เพราะมาได้คำตอบที่ถามไปทาง FB ตอนเดินทางจะถึงพัทลุงอยู่แล้วว่า
ระยะ Olympic ที่สมัครนั้น ไม่ใช่ ว่าย-ปั่น-วิ่ง เป็นสองเท่าของระยะ Sprint ตามปกติ แต่เป็นสองรอบ คือ ว่าย-ปั่น-วิ่ง--ว่าย-ปั่น-วิ่ง ซึ่งผมไม่เคยแข่งแบบนี้มาก่อน ส่วนตัวแล้ว คิดว่าค่อนข้างอันตราย ตรงช่วงรอยต่อจากวิ่งรอบแรกที่ร่างกายร้อนจัด หัวใจเต้นแรง แล้วไปลงว่ายน้ำรอบสอง ทางเลือกของผมคือ กลับ ไม่แข่ง กับ พักช่วงรอยต่อนั้นนานขึ้น ผมเลือกวิธีที่สอง เพราะยังอยากลองสนามที่ลำปำ และมั่นใจในคุณธเนศ race director
ผมออกจากหาดใหญ่เผื่อเวลาไว้สบาย ๆ 2 ชม. เพราะปกติผมขับรถจากหาดใหญ่-พัทลุงแค่ชม.ครึ่ง จะได้ไปลงทะเบียนและฟัง race brief พอดี แต่ลืมไปว่าถนนสายเอเชียช่วงนั้น มีทั้งก่อสร้างสะพานลอยที่แยกคูหาและกำลังทำถนนแทบจะตลอดทาง บางช่วงเรียกว่าจอดสนิท ใช้เวลาไป 2 ชม.ครึ่ง ผมพยายามเปิด FB บนรถเผื่อว่าจะมีถ่ายทอด FB live race brief แต่ก็กลายเป็นถ่ายทอดการแข่งขันรายการอื่นของงานนี้ ซึ่งจัดหลายอย่างมาก สุดท้ายต้องใช้วิธีสอบถามทาง inbox กับคำถามคาใจเรื่อง ว่าย-ปั่น-วิ่งX2 ซึ่งก็มาได้คำตอบอันน่าตกใจตามย่อหน้าข้างบนในรถ ก่อนถึงสถานที่จัดงาน
พอถึงที่จัดงานตรงหาดลำปำ เห็นสภาพรถต่อแถวยาวเหยียดเข้าถนนแคบ ๆ ไปที่จอดรถแล้ว ผมต้องถามน้องที่ช่วยอำนวยความสะดวกอยู่ตรงนั้นว่า มีทางเลือกอื่นมั้ย น้องเขาแนะนำให้เลี้ยวกลับทางเก่าแล้วจอดรถริมถนนใหญ่ก็ได้ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดีมาก ถึงจะต้องเดินกลับมาไกลหน่อย และต้องนับถือน้ำใจน้องกลุ่มนี้มาก ทั้งแดดร้อนจัด ทั้งต้องรองรับอารมณ์ผู้คนเพราะการจราจรติดขัดจากคนเห็นแก่ตัวไม่กี่คน
จุดลงทะเบียนอยู่ตรงปากทางหน้างานเลย บริการได้รวดเร็วเป็นระบบมาก แต่พอถัดจากจุดนี้เข้าไปข้างใน พื้นที่จัดงานกว้างมาก และจัดการแข่งขันหลายประเภท แต่ไม่มีแผนที่แสดงว่าจุดไหนเป็นอะไร แถมกำลังจะเริ่มแข่งขันชักคะเย่อกับไตรกีฬามืออาชีพด้วย ทุกอย่างมันเลยดูสับสนงง ๆ ไปหมด ระหว่างผมเดินสำรวจพื้นที่แบบหลง ๆ ก็มีคนเข้ามาถามผมเรื่องจุดลงทะเบียนถึงสองกลุ่ม
งานนี้เป็นไตรกีฬาครั้งแรกที่ผมมาไม่ทัน race brief หนักใจพอสมควร เพราะปกติ race director คนนี้จะมีข้อมูลดี ๆ เป็นประโยชน์มาแจ้งเสมอ หลังทำใจเรื่องนั้นได้ ก็ถือโอกาสดูชักคะเย่อกับไตรกีฬามืออาชีพที่กำลังจัดอยู่ตอนนั้น โชคดีมาก ได้เห็นเทคนิคและทักษะของนักกีฬาระดับโลกและทีมชาติหลายเรื่อง
ครั้งนี้เขาไม่ได้ให้เอารถจักรยานเข้าไปเก็บใน transition ก่อนล่วงหน้า เพราะต้องใช้พื้นที่แข่งขันอย่างอื่นอยู่ ผมเลยขับรถไปที่พัก ความที่ไม่อยากพักโรงแรมในเมือง และลำปำรีสอร์ตใกล้งานที่สุดก็เต็มแล้ว ผมเลือกที่พักที่ ริมเลปาร์ครีสอร์ต [
3] ซึ่งอยู่บนเส้นทางเลียบทะเลสาบจากลำปำไปทะเลน้อย ห่างจากที่จัดงานประมาณ 10 กม. แล้วเป็นเส้นทางที่ใช้แข่งจักรยานด้วย จึงถือโอกาสสำรวจทางไปในตัว อุ่นใจขึ้นมากเพราะเป็นทางราบเรียบตลอด ไม่มีเนินเลย จุดกลับตัวอยู่ตรงหน้าร้านอาหาร บ้านแม่หนูพริ้มริมเล [
4] ที่ผมฝากท้องเป็นอาหารเย็นแบบไทย ๆ วันนั้น ก่อนที่ฝนจะถล่มลงมาเหมือนพายุเข้าตอนช่วงค่ำ รู้สึกเป็นห่วงแทนคนจัดงานเหมือนกันว่า วันแข่งพรุ่งนี้เช้าจะเป็นอย่างไร เส้นทางท่ีดูแลสะอาดเรียบร้อยดีแล้ว หลังพายุ สภาพจะเยินแค่ไหน
พี่เจ้าของรีสอร์ตบอกว่า ตอนเช้าจะปั่นจักรยานไปลำปำก็ได้ แกปั่นอยู่ประจำประมาณครึ่งชม. เท่านั้น แต่ผมดูเวลาแล้ว ช่วงก่อนหกโมงเช้า น่าจะยังมืดอยู่ จึงตัดสินใจไม่ปั่นไปดีกว่า ตั้งใจว่าจะไปหาที่จอดรถแถววัดใกล้งานแทน แล้วเข้านอนตามปกติ
หลับได้ยาวสบายมาก จนตื่นเช้าตี 4 ครึ่งตามปกติ ไม่ได้ยินเสียงข้างห้องซึ่งเป็นนักวิ่งงานเดียวกันที่ต้องออกจากที่พักตั้งแต่ตี 4 เพราะรายการนั้นปล่อยตัวตี 5 ผมกินกล้วยที่เตรียมมากับทำกิจวัตรตามปกติ ก่อนขับรถออกจากที่พักแบบสบาย ๆ ตอนตี 5 ครึ่ง ฟ้ายังมืดสนิท แต่เริ่มมีชาวบ้านออกมาทำงานและเดินออกกำลังข้างถนนกันพอสมควร
เส้นทางข้างวัดป่าลิไลยก์ของพระอาจารย์ทวี พระนักพัฒนาที่ผมเคยได้ปรนนิบัติท่านตอนอยู่ออสเตรเลียปิดถนน เพราะกลายเป็นเส้นทางปั่นจักรยานที่ถูกปรับจากเดิมเล็กน้อย แต่ถนนเส้นถัดมาซึ่งเป็นทางเข้าที่จอดรถของงานอีกด้านเปิดทางสะดวก จึงตัดปัญหาเรื่องที่จอดรถไปได้เลย ผมประกอบจักรยานข้างรถแล้วปั่นเข้าไปในงานตามเส้นทางปั่นจักรยานช่วงแรก แล้วเอาของไปเก็บใน transition
ช่วงเข้าก่อนปล่อนตัวไตรกีฬา กลายเป็นช่วง race brief แทนโดยไม่ทราบมาก่อน ซึ่งคุณธเนศ race director ก็ brief สดแบบทำให้ดูเป็นตัวอย่างถ่ายทอดขึ้นจอ projector อย่างละเอียด วิธีนี้ดีไปอย่าง นักกีฬาได้ฟังกันพร้อมหน้า ตัดปัญหาคนไม่มาฟังไปได้เลย
ว่ายน้ำ 1ระยะทาง 0.75 กม.
เวลา 25:14 นาที
Pace 3:21 นาที/100 ม.
การทะยอยปล่อยตัวนักกีฬา และน้ำในทะเลสาบซึ่งไม่มีคลื่น น่าจะช่วยให้ผมว่ายได้ดีกว่าทุกครั้ง แต่มาเจอเส้นทางรูปสามเหลี่ยมว่ายวนซ้ายเป็นครั้งแรก เล่นเอาผมเมาทิศไปตั้งแต่ลงน้ำ ความที่ถนัดเงยหน้าหายใจด้านขวาเป็นข้างเดียว เลยเล็งทุ่นที่อยู่ซ้ายมือไม่ได้ ไม่นานผมก็ว่ายเฉออกนอกเแนวไปไกล ต้องว่ายย้อนกลับมาเสียทั้งแรงและเวลา แถมครั้งนี้จะอาศัยดูนักกีฬาคนอื่นก็ไม่ได้ เพราะเขาจัดการไว้ดีจนว่ายห่างกันพอสมควร ต้องเปลี่ยนเป็นท่ากบเพื่อเล็งทิศสลับมากกว่าทุกครั้ง
น้ำทะเลสาบไม่มีคลื่นซัดและค่อนข้างตื้นแบบเดินได้ เรื่องความปลอดภัยจึงไม่มีปัญหา แต่น้ำเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวอุ่น ทำให้จินตนาการเรื่องทองหรืออุจจาระที่ลอยมาจากชุมชนด้านในกลับมาตามหลอกหลอนเหมือนตอนว่ายในทะเลสาบสงขลาตอนล่างเมื่อ
[ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบ]
ผมว่ายเกาะกลุ่มกลาง ๆ ใน wave หมวกสีแดงซึ่งเป็น wave ว่ายช้ารองสุดท้าย ทำเวลาได้ไม่ดีนัก สังเกตได้ว่าไม่ได้ว่ายแซง wave ก่อนหน้าเลย จนเกือบจะขึ้นฝั่ง ก็เห็นแนวทุ่นที่อยู่ขวามือตามถนัด และเห็นช่างภาพอยู่บนแพ เลยขอภาพงาม ๆ เสียหน่อย ทำเวลาไม่ดีไม่เป็นไร ขอภาพงามไว้ก่อน ตามภาพด้านบน
ตอนปีนแพขึ้นฝั่ง ต้องโหนเชือกที่เขาจัดเตรียมไว้ให้ แต่ผมทำไม่เป็น แทนที่จะใช้เท้ายันแพแล้วใช้แขนดึงเชือกขึ้นไป กลับเป็นออกแรงดึงเชือกแล้วปืนขึ้นแพ กว่าจะขึ้นได้ขาอ่อนขาพับ ผะอืดผะอมพอสมควร ไม่คิดว่าจะต้องมาทำอะไรแบบนี้
Transition 1.1เวลา 05:10 นาที
ขึ้นจากน้ำได้ ต้องวิ่งตามทางพรมเขียวขึ้น ๆ ลง ๆ เลี้ยวไปมาไกลพอสมควรกลับมาเข้า transition คราวนี้ผมไม่ลืม ยังไม่ถอดแว่นว่ายน้ำออกก่อน จะได้มองทางชัด ใน transition ผมใช้เวลาแต่งตัวไม่นาน แต่รู้สึกว่าถุงเท้าแยกนิ้วอย่างหนาที่เอามา มันใส่ยากเย็นยิ่งนัก ก่อนกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาไม่กี่อึก แล้วจูงจักรยานออกไป
จักรยาน 1ระยะทาง 20 กม.
เวลา 0:38:25 ชม.
Pace 31.24 กม./ชม.
เส้นทางปั่นช่วงแรก ลัดเลี้ยวริมทะเลสาบ ไปเลี้ยวซ้ายเลียบกำแพงวัดป่าลิไลยก์ มีเนินสกัดความเร็วเป็นช่วง ๆ แต่พอเลี้ยวขวาออกทางหลวงหมายเลข 4007 แล้วก็เป็นทางตรงราบเรียบสะอาดสะอ้าน ปั่นง่ายมาก ทำเวลาได้ดี
งานนี้ ผมได้ลองปั่นเสือหมอบคันใหม่
Trek Madone SL7 [5] ที่เพิ่งถอยออกมาแค่ 2 อาทิตย์เป็นสนามแรก เรื่องความเบาไม่ต่างจากคันเดิม แต่ที่ต่างไปคือ ความนิ่งและการทรงตัวดีกว่ามาก บวกกับเส้นทางที่เป็นทางราบไร้เนินตลอด ทำให้ผมปั่นทำความเร็วได้ดีที่สุดเท่าที่เคยปั่นมา
อัตราเต้นของหัวใจผม ความจริงไม่ต่างจากเดิมนัก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 142 ครั้ง/นาที ซึ่งค่อนข้างสม่ำเสมอตลอด มาเร็วขึ้นช่วงท้าย peak สูงสุดที่ 164 ครั้ง/นาที แต่ผมเพิ่งไปวิ่งสายพานและปรับช่วงแบ่ง zone ใหม่ตามผลการตรวจที่ได้ เพราะเป็นคนที่หัวใจเต้นช้ามาก ทำให้ครั้งนี้ การเต้นของหัวใจผมเปลี่ยนมาอยู่ใน zone 5 คือ มากกว่า 142 ครั้ง/นาที นานที่สุดถึง 58% รองลงไปคือ zone 4 คืออัตรา 134-142 ครั้ง/นาที 30% Garmin ที่ผมใส่เลยส่งสัญญาณเตือนตลอดช่วงปั่น
Transition 1.2เวลา 01:46 นาที
ตอนลงจากจักรยานจูงเข้า transition รู้สึกสบาย ๆ ไม่เหนื่อย ใน transition ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาขวดแรกจนหมด แล้วพกขนม angel ball [
5]ใส่กระเป๋าไป 2 ลูกไว้กินกลางทาง ทำเวลาได้เร็วมาก แต่ปัญหา คือ
ผมวิ่งออกจาก transition ไปแล้วร้อยกว่าเมตร เพิ่งรู้ตัวว่า ลืมติดเลขประจำตัวตามข้อกำหนด แต่ที่ทำให้ตัดสินใจย้อนกลับไปเอา ก็เพราะกลัวว่าพอไม่เห็นเลข เวลาค้นรูปจะยาก เลยเดินย้อนกลับมาบอกเจ้าหน้าที่ประจำเส้นทาง ขอกลับเข้า transition แบบไม่ไปขวางทางนักกีฬาคนอื่น
ยอมทุกอย่างเพื่อรูป
วิ่ง 1ระยะทาง 5 กม.
เวลา 0:32:20 ชม.
Pace 6.28 นาที/กม.
ตอนวิ่งออกจาก transition ใหม่หลังติดเลขประจำตัวแล้ว ช่วงที่วิ่งผ่านกลุ่มนักวิ่งที่แข่งรายการของตนเองเสร็จแล้วยืนพักรออยู่ข้างทาง
มีเสียงปรบมือให้กำลังใจ ได้แรงอกดีมาก
เส้นทางวิ่ง คือ ถนนอภัยบริรักษ์จากตัวเมืองมาหาดลำปำที่ปิดถนนไปครึ่งหนึ่ง ไม่มีร่มเงาอะไรเลย แดดตอนเช้าก็ร้อนเอาเรื่อง ผมวิ่งได้เรื่อย ๆ หยุดเฉพาะตรงจุดให้น้ำเท่านั้น แต่ขากลับพอผ่านจุดให้น้ำได้ไม่นาน Garmin เจ้าปัญหาก็ส่งสัญญาณเตือนว่าจับ GPS ไม่ได้ คราวนี้มาแปลก มาเป็นเอาตอนวิ่ง ไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ ที่มีอาการตั้งแต่ตอนว่ายน้ำ น่ารำคาญมาก ผมเลยกดยกเลิกบันทึกการแข่งขันไปเลย ตั้งใจว่าจะกดบันทึกใหม่ตอนออกไปว่ายน้ำรอบสอง
ข้อมูลที่ยังบันทึกเอาไว้เฉพาะครึ่งเดียวของการวิ่ง อัตราเต้นของหัวใจเฉลี่ย 152 ครั้ง/นาที peak สูงสุดขึ้นไป 164 ครั้ง/นาที การเต้นของหัวใจผมอยู่ใน zone 5 คือ มากกว่า 152 ครั้ง/นาที กับ zone 4 คืออัตรา 144-152 ครั้ง/นาที อย่างละครึ่ง
โดยรวม ถ้าตัดเวลาที่เดินกลับไปเอาเลขประจำตัวประมาณ 2 นาที ก็ยังนับว่าวิ่งช้ากว่าเป้า
Transition 1-2 กลับจากวิ่ง มาเข้า transition งานนี้เป็นครั้งแรกที่ต้องถอดถุงเท้ารองเท้าวิ่ง เอาเลขประจำตัวออก เปลี่ยนมาใส่หมวกกับแว่นว่ายน้ำใหม่ ซึ่งความจริงก็ใช้เวลาไม่นาน แต่ผมตั้งใจจะพักคลายร้อนและให้หัวใจเต้นช้าลงสักหน่อยก่อนลงน้ำ เลยกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาขวดที่สองช้า ๆ ทั้งที่รอบตัวแทบไม่มีจักรยานจอดอยู่เลย แสดงว่าคนอื่นเขาออกไปปั่นกันหมดแล้ว เหลือบดูนาฬิกา ยังไม่ถึง 08:40 น. มีเวลาเหลือเกือบ 2 ชม. น่าจะยังพอไหว เอาปลอดภัยไว้ก่อน แต่ก็ทำให้ต้องเริ่มดูเวลาถี่ขึ้น เพื่อไม่ให้หลุด cutoff ตอน 10:30 น.
ว่ายน้ำ 2ระยะทาง 0.75 กม.
เวลา 21:00 นาที
Pace 2:47 นาที/100 ม.
ตั้งแต่ออกจาก transition ไปจุดลงน้ำ สัมผัสได้ถึงความเหงา เพราะไม่เห็นคนอื่นเลย ตอนกระโดดลงน้ำ เพิ่งเห็นอีกคนกำลังจะว่ายขึ้นฝั่ง ใจฝ่อไปเหมือนกัน แต่ก็ทำใจ คิดว่า ทำให้ดีที่สุดแล้วกัน
ความที่ว่ายอยู่คนเดียวและน้ำค่อนข้างนิ่ง ได้อารมณ์เหมือนกับตอนแอบไปว่ายในสระช่วงปลอดคน สมาธิดีมาก รอบสองนี้เลยว่ายได้ตรงทิศและทำเวลาดีขึ้นชัดเจน
ทะเสสาบเป็นของข้าคนเดียว ทำให้ตากล้องจับภาพผมไว้ได้สวยมาก ตามภาพข้างบน โปรดสังเกตสายน้ำได้วงแขน มืออาชีพจริง ๆ ได้ภาพชุดนี้ชุดเดียวก็คุ้มแล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ภาพผมถูกเลือกเป็นหนึ่งในภาพ hilight ของงาน และที่สำคัญ งานนี้ภาพถ่ายฟรีทั้งหมด
ตอนปีนแพขึ้นฝั่งรอบสอง ไม่รีบร้อนและรู้จังหวะมากขึ้น ใช้เท้ายันแพแล้วใช้แขนดึงเชือกขึ้นไป เออ.. มันง่ายและใช้แรงน้อยกว่าครั้งแรกนัก จะให้ทำเป็นก็ทำได้
Transition 2.1เวลา 10:05 นาที
ใน transition รอบนี้ ผมคิดว่าทำเวลาไม่นาน เพราะตัดสินใจไม่ใส่ถุงเท้าแยกนิ้วให้เสียเวลา เหลือปั่นกับวิ่งอีก 5 กม. ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่พอมาดูเวลาที่ชิพจับได้ กลับเกิน 10 นาที งงเหมือนกัน เหลือบดูนาฬิกา เลยเก้าโมงเช้ามานิดหน่อยแล้ว มีเวลาอีกไม่ถึง ชม. ครึ่ง
ช่วงที่ลากจักรยานออกจาก transition คุณธเนศมายืนดักอยู่ตรงจุดขึ้นรถ เห็นแววตาพิฆาตคู่นั้นแล้ว น่าจะมาดักตัดคนไม่ผ่าน cutoff แหง ..ขอผมผ่านไปก่อนนะครับ
จักรยาน 2ระยะทาง 20 กม.
เวลา 0:40:02 ชม.
Pace 29.98 กม./ชม.
เส้นทางปั่นรอบสอง แดดแรงขึ้นและมีผู้ร่วมทางมากขึ้น ไม่ใช่นักกีฬาคนอื่น แต่เป็นชาวบ้านที่ออกมาใช้ชีวิตประจำวันกันตามปกติ
ผมปั่นออกทางหลวงหมายเลข 4007 ได้สักพัก ก็ถูกน้องมาร์แชลขับจักรยานยนต์ประกบ โอ..ไม่นะ ผมคงไม่ใช่คนสุดท้ายใช่มั้ย แล้วก็อุ่นใจขึ้น เมื่อเห็นน้องเร่งเครื่องแซงหน้าไปคอยเตือนรถชาวบ้านที่อยู่ด้านหน้าเป็นระยะให้ ต้องบอกว่า รู้สึกว่าตัวงี้พองเลย นี่เราสำคัญขนาดนั้นเลยนะ เคยเห็นแต่มาร์แชลตามประกบคนนำหน้าสุด ประทับใจและขอบคุณน้องอย่างหาที่สุดไม่ได้จริง ๆ
ที่จุดกลับตัวร้านอาหาร บ้านแม่หนูพริ้มริมเล [
4] ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ประจำตรงนั้นตะโกนถามน้องมาร์แชลประจำตัวผมว่า คนสุดท้ายใช่มั้ย ผมไม่ได้ยินคำตอบ แต่ก็คิดในใจ ..ไม่ต้องตอกย้ำก็ได้
ขากลับ มาร์แชลประจำตัวผมเลิกประกบผมแล้ว ผมสวนกับนักกีฬาคนอื่นที่ปั่นอยู่ฝั่งตรงข้ามนาน ๆ สักคน แต่ก็ใจชื้นขึ้นที่เราไม่ใช่คนสุดท้าย นับไปนับมา มีคนตามหลังผมอยู่ 7 คน ชาย 3 หญิง 4
พอทำใจได้ สบายใจขึ้น ไม่เร่ง ไม่ตื่นเต้น แค่คิดว่าทำยังไงไม่ให้หลุด cutoff ก็พอ ทำความเร็วลดลงมาหน่อย แต่อัตราการเต้นของหัวใจผมช่วงปั่นรอบนี้ต่ำกว่ารอบแรก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 140 ครั้ง/นาที peak สูงสุดที่ 158 ครั้ง/นาที อยู่ใน zone 5 คือ มากกว่า 142 ครั้ง/นาที น้อยลงมาเหลือ 4% ส่วนใหญ่เป็น zone 4 คืออัตรา 134-142 ครั้ง/นาที ถึง 77% Garmin ก็เตือนน้อยลง
Transition 2.2เวลา 01:29 นาที
ตอนจูงจักรยานเข้า transition เห็นคนอื่นที่น่าจะแข่งเสร็จแล้วหลายคน ผมกินน้ำเกลือแร่ขวดที่สองจนหมดแล้วพกขนม angel ball [
6] ใส่กระเป๋าไปกินกลางทางเหมือนเดิม
คราวนี้ไม่ลืมติดป้ายหมายเลขตัวเองแล้ว ทำเวลาได้เร็วมาก ก่อนออกจาก transition ดูนาฬิกา 9:46 น. ยังมีเวลาให้วิ่งเกือบ 45 นาที พอไหว..พอไหว
วิ่ง 2ระยะทาง 5 กม.
เวลา 0:30:20 ชม.
Pace 6.03 นาที/กม.
วิ่งรอบสองนี้ แดดแรงขึ้นมาก ครึ่งแรกผมวิ่งได้ตลอด แค่หยุดตรงจุดให้น้ำ แต่พอผ่านจุดกลับตัวแล้ว ก็ต้องวิ่งสลับเดิน เพราะรู้สึกโหย ๆ ถูกช่างภาพหลอกอีกต่างหากว่า ข้างหน้ามีไอศกรีมแท่งของโปรด ผมดูนาฬิกาเป็นระยะ กะเวลาให้เข้าเส้นชัยก่อน cutoff ไว้ประมาณ 10 นาที ช่วงเวลาก่อน cutoff แบบนี้ เหลือนักกีฬาในเส้นทางวิ่งไม่กี่คน แต่ที่เหมือนกัน คือ ส่งเสียงทักทายให้กำลังใจกันเองตลอดทาง คนที่แข่งจบไปแล้วบางคนก็ตะโกนให้สู้ ๆ บรรยากาศแบบนี้คือเสน่ห์ของกีฬาจริง ๆ
อัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ย 142 ครั้ง/นาที peak สูงสุดขึ้นไป 154 ครั้ง/นาที การเต้นของหัวใจผมเกินครึ่งเป็น zone 4 คืออัตรา 144-152 ครั้ง/นาที แทบไม่มี zone 5 คือ มากกว่า 152 ครั้ง/นาทีเลย
ในที่สุด ผมก็เข้าเส้นชัยจนได้ตอน 10:22 น. ก่อนเวลา cutoff 8 นาทีเท่านั้น
รวมเวลา 3:25:51 ชม.
ระยะ Olympic ครั้งนี้ เมื่อเทียบกับครั้งก่อน ๆ ใช้เวลานานขึ้นชัดเจน แต่ก็ค่อนข้างพอใจกับผลงานตัวเองสำหรับ ว่าย-ปั่น-วิ่ง--ว่าย-ปั่น-วิ่ง ครั้งแรก เพราะต้องนับว่าสนามนี้ เวลา cutoff ค่อนข้างโหดทีเดียว มีนักกีฬาแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นจากที่สมัครมาที่วิ่งถึงเส้นชัย ดีใจที่ผมเป็น 1 ใน 32 คนนั้น ถึงจะเป็นที่ 6 เป็นคนสุดท้ายของรุ่นอายุ 50+ ชาย ส่วนอีก 2 คน DNF และไม่มาแข่ง 6 คน จุดที่ดีขึ้นคือ ปั่นจักรยานกับยานใหม่ จุดที่ต้องปรับปรุงแน่ ๆ คือ ว่ายน้ำวนซ้าย ที่ต้องหาวิธีเล็งทิศหรือหัดเงยหน้าให้ได้ทั้งสองข้าง
ขอปิดท้ายด้วยคำขอบคุณชาวพัทลุงที่จัดงานนี้ได้ดีจริง ๆ ความร่วมมือร่วมใจ การมีส่วนร่วมดีมาก ทำให้ผมได้สัมผัสเสน่ห์ของไตรกีฬา มีกำลังใจที่จะซ้อมต่อไป