2022-08-21

O: กระบี่ไตรกีฬา 2565: กระบี่ - Krabi Triathlon 2022: Krabi

O: ระยะโอลิมปิก - Olympic distance

กระบี่ไตรกีฬา 2565 - Krabi Triathlon 2022
หาดนพรัตน์ธารา กระบี่ - Nopparatthara Beach Krabi


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
เริ่มประชาสัมพันธ์การแข่งขันทาง Facebook [1] ก่อนล่วงหน้างานไม่ถึงเดือน แล้วให้สมัครเลย นับว่าค่อนข้างกระชั้นมาก แต่ข้อมูลการแข่งขันที่แจ้งก่อนล่วงหน้าละเอียดดีมาก การตอบคำถามทาง inbox ช้าหรือไม่ตอบเลย
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยและภาคอังกฤษชัดเจนได้ยินทั่วถึงบริเวณที่จัดงานและเป็นกันเองดี แต่ควรมีแผนผังแสดงพื้นที่จัดงาน เช่น จุดลงทะเบียน ลานจอดรถ อาหาร สุขา สินค้า ติดตั้งไว้หลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าออก ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นได้ชัดเจน 
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
สถานที่จอดรถบริเวณลานจอดรถที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเดิมอยู่ไม่ไกล ไม่มีบริการรถรับส่ง แต่สามารถเดินมาถึงสถานที่จัดงานใหม่ได้ พื้นที่จอดรถไม่เพียงพอ เนื่องจากมีทั้งนักกีฬาและนักท่องเที่ยวทั่วไปด้วย   
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
การชี้แจงรายละเอียดเส้นทางการแข่งขัน จุดเสี่ยงและกฏกติกาต่าง ๆ ในวันลงทะเบียนภาคไทยละเอียดดี แต่ภาคอังกฤษแปลไม่ครบถ้วน มีเอกสารรายละเอียดการแข่งขันแจกเป็นกระดาษด้วย แต่ไม่ update ข้อมูลจึงสับสนและสิ้นเปลืองเปล่า ไม่มีการถ่ายทอดทาง Facebook Live สำหรับผู้ที่ไม่ได้มาฟังในงาน
การลงทะเบียน การจัดการ
การประสานงานนับว่าสับสนมาก ถึงแม้การลงทะเบียนจะทำได้รวดเร็วและมีมาตรการป้องกันโควิดเป็นอย่างดี แต่น้องที่จุดลงทะเบียนไม่สามารถตอบคำถามทั่วไป เช่น การรับ wristband ซึ่งในเอกสารแจ้งว่าต้องรับวันลงทะเบียน จุดตรวจสอบชิพจับเวลา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 'แจกหมวกผิดรุ่น วุ่นไปตลอดงาน' ที่ทำให้ race director เดือดร้อนและต้องเสียเวลาประชาสัมพันธ์แก้ไขไปตลอดงาน สิ่งที่ควรปรับปรุงอย่างยิ่งคือ การประชาสัมพันธ์ซ้ำ ๆ เรื่องความตรงต่อเวลา แต่เอาเข้าจริง ๆ ไม่สามารถรักษาเวลาตามที่ประกาศไว้ได้ ตั้งแต่เวลาปิดจุดเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เลื่อนยาวถึง 45 นาที เหมือนเป็นการลงโทษนักกีฬาที่ตรงเวลาให้มารอ เวลาปล่อยตัวลงน้ำเลื่อนจาก 06:00 น. ช้าไปกว่า 20 นาทีเพราะฟ้ามืดเกินไป ทั้งที่ควรรู้ล่วงหน้าและสามารถแจ้งเปลี่ยนแปลงได้ในวันลงทะเบียน นอกจากนั้น การตัดรุ่นนักกีฬาผู้หญิงช่วงอายุที่มีผู้เข้าร่วมน้อยไปรวมกับอีกรุ่นที่อายุน้อยกว่า ดูจะไม่ยุติธรรมกับนักกีฬากลุ่มนั้น เขาควรมีสิทธิได้รางวัลในกลุ่มอายุเดิม
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
การอนุญาตให้นักกีฬาใช้ buoy ได้โดยปล่อยตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายแสดงถึงการคำนึงถึงความปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้ปล่อยตัวเป็น wave ตามที่ชี้แจงใน race brief เส้นทางว่ายน้ำไม่มีทุ่นแสดงแนว เพราะติดขัดกฏเกณฑ์ห้ามวางทุ่นของอุทยานฯ แต่ใช้เรือหางยาวจอดกำหนดจุดแทนไม่เหมาะสม เวลาที่เรือโต้คลื่นเอาท้ายเรือออกด้านนอก หางเสือเรือที่โยกขึ้นลงตามคลื่นเป็นอันตรายกับนักกีฬาที่กำลังว่ายผ่านจุดเปลี่ยนทิศมาก การใช้ธงสัญญาณสีฟ้าที่สีกลืนไปกับน้ำทะเลและท้องฟ้าตอนเช้าแทบไม่มีประโยชน์เลย รวมทั้งมีเรือช่วยเหลือนักกีฬาน้อยมาก 
ความปลอดภัย-จักรยาน
เส้นทางจักรยานต้องใช้คำว่า ไม่ปิดถนน น่าจะตรงกว่า เพราะกลัวการปิดถนนจะกระทบนักท่องเที่ยว แต่พอเลื่อนเวลาแข่งขัน เวลาปิดถนนจึงกระทบนักกีฬาไปด้วย งานนี้นอกจากจะได้ปั่นจักรยานไปพร้อมกับมอเตอร์ไซค์ชาวบ้านแล้ว ยังมีโอกาสได้ draft กับรถบรรทุกพ่วงขนาดใหญ่ด้วย แถมด้วยความสับสนชนิดรอบแรกปั่นถนนฝั่งหนึ่ง แต่รอบสองมีเจ้าหน้าที่มาบอกให้ปั่นย้อนศรเพราะปิดถนนฝั่งหนึ่ง  นอกจากปัญหาเรื่องการปิดถนนแล้ว สภาพเส้นทางต้องเรียกว่าแย่ มีการก่อสร้างตั้งแต่ออกจากหาดนพรัตน์ธาราจนถึงแยกนาตีน ตรงไหล่ทางที่ให้ปั่นยังมีก้อนกรวดหลายขนาดเป็นกับดักอีก ยังดีที่บางจุดมีป้ายเตือนหลุมบ่อให้หลบ ป้ายกำกับเส้นทางก็ไม่ครบถ้วน ตรงจุดเลี้ยวซ้ายที่ระยะ Olympic ต้องไปตรงเพื่อปั่นรอบสอง ไม่มีป้ายบอก และปัญหาสุดท้ายคือ มีเจ้าหน้าที่กำกับเส้นทางน้อยมาก
ความปลอดภัย-วิ่ง
ปัญหาของเส้นทางวิ่งเหมือนกับจักรยาน คือ ไม่ปิดถนน หรือปิดแต่ไม่ได้ผล เพราะใช้ถนนเลียบหาดนพรัตน์ธาราตลอดสาย ตั้งกรวยไว้ไหล่ทางความกว้างไม่ถึง 2 เมตร ซึ่งนักกีฬาไม่สามารถวิ่งสวนกันได้เลย ส่วนหนึ่งจึงต้องออกไปวิ่งนอกแนวกรวยแล้วเสี่ยงภัยเอง บางช่วงมีกรวยตั้งไว้สองแนว แต่ก็ไม่รู้ว่าเพื่ออะไร ตรงจุดกลับตัวบนเนินใกล้กระบี่รีสอร์ตก็ไม่มีเจ้าหน้าที่กำกับเส้นทางเฝ้าประจำ รถที่วิ่งปกติจึงวิ่งสวนทางเข้ามาในบริเวณแข่งขันอันตรายมาก นักกีฬาวิ่งอยู่ดี ๆ มีโอกาสประจันหน้ากับรถใหญ่ที่สวนทางเข้ามาได้เลย และการที่วิ่งไปด้วยกันแบบนี้ นักกีฬาก็สูดดมควันพิษจากท่อไอเสียกันไปเต็ม ๆ
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่จุดเปลี่ยนอุปกรณ์กว้างขวางเพียงพอ การควบคุมการเข้าออกทั้งก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขันทำได้ดีตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้ล่วงหน้า แต่การเปลี่ยนแปลงเวลาปิดที่ย้ำอยู่ตลอดใน race brief ว่าเป็นเวลา 05:00 น. พอถึงวันแข่งก็เลื่อนเป็น 05:30 และ 05:45 น.เฉยเลย เสียเวลานอนไปตั้ง 45 นาที
การแพทย์
การเฝ้าระวัง การบริการทางการแพทย์ทำได้ดีมาก ทั้งที่ส่วนกลางและตลอดเส้นทางการแข่งขัน
อาหาร เครื่องดื่ม
อาหารและเครื่องดื่มตลอดเส้นทางการแข่งขันมีเพียงพอและบริการดีมาก อาหารบริเวณส่วนกลางโดยใช้คูปองแลกจากซุ้มอาหารที่มีจำนวนมากทำได้ดี แต่สงสารแม่ค้าที่เหงามากทั้งสองวัน

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Olympic ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป



หลังผ่าน [สงขลาไตรกีฬา 2565]  ผมก็ซ้อมวิ่งอย่างเดียวเพื่อเตรียมตัวลง half marathon ครั้งที่สองของตัวเองใน Songkhla International Marathon [1] แล้วอยู่ดี ๆ รุ่นน้องในกลุ่ม OSK TRI [2] ก็โพสต์แจ้งว่ามีงานนี้ที่เพิ่งประชาสัมพันธ์และให้สมัครแบบกระชั้นชิด..อีกแล้ว แต่เห็นแค่ 'กระบี่' ผมก็ไม่คิดมาก สมัครทันที ถึงจะปาดหน้างานวิ่งที่สงขลาแค่อาทิตย์เดียวก็ตาม คือ ต่อให้ไม่ฟรี ผมก็อยากมา แล้วรีบจองโรงแรม เพราะสุดสัปดาห์ช่วงหลังโควิดแบบนี้ เมืองท่องเที่ยวอย่างกระบี่ ห้องพักใกล้งานน่าจะหายาก

สมัครแล้วก็ต้องแบ่งเวลาแบ่งใจมาซ้อม brick ปั่น-วิ่งบ้าง แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะผมซ้อมแบบนี้มาระยะหนึ่งก่อนไป [อเมซิ่งเรซและไตรกีฬา: พัทลุง] อยู่แล้ว แต่ก็ต้องทำใจว่า half marathon คงทำไม่ได้ตามเป้า

ผมออกจากหาดใหญ่แต่เช้า ถือโอกาสขับรถตระเวณล่าสมบัติ Geocache [3] ไปด้วย เพราะกระบี่มีอยู่เยอะมาก ช่วงเย็นจึงเข้าที่พักที่ อโยธยาพาเลสอ่าวนางบีชรีสอร์ต [4] ซึ่งพอสถานที่จัดงานถูกเลื่อนจากตรงหน้าที่ทำการอุทยานฯ เป็น อ่าวนางแลนด์มาร์ค [5] แล้วยิ่งใกล้ขึ้นไปอีก พนักงานโรงแรมบอกว่า มีทางลัดสามารถเดินไปที่จัดงานได้ไม่ถึง 10 นาที แต่ผมออกมาเดินตรงถนนริมหาด เพราะอยากสำรวจดูความเปลี่ยนแปลงของที่นี่ แล้วค่อนข้างแปลกใจ ที่นักท่องเที่ยวตรงหาดนพรัตน์ธาราค่อนข้างน้อยกว่าที่คิดมาก

หลังฟัง race brief แล้ว ผมขับรถดูเส้นทางจักรยานเหมือนทุกครั้ง แล้วค่อนข้างกังวลเรื่องถนนที่กำลังก่อสร้างไม่มีไหล่ทาง แต่ก็สบายใจไปเรื่องหนึ่ง คือ ไม่มีเนินเลย มีเนินเตี้ยจุดเดียวตรงจุดกลับตัวก่อนถึงค่ายนาวิกโยธินที่หาดคลองม่วงเท่านั้น ขากลับผมแวะซื้อกล้วยน้ำว้าจากชาวบ้านที่วางขายอยู่หน้าบ้านมาเป็นเสบียงช่วงเช้า
 
วันแข่งขัน ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ เช้ากว่าปกติอยู่ดี ถึงที่พักจะอยู่ใกล้มาก เพราะตอน race brief พิธีกรย้ำนักย้ำหนาว่า ปิดจุดเปลี่ยนอุปกรณ์ตอน 05:00 น. ตรง ซึ่งก็ยังสงสัยอยู่ว่า จะปิดก่อนเวลาปล่อยตัวตั้ง 1 ชม. เพื่ออะไร แต่เป็นนักกีฬาที่ดีต้องตรงต่อเวลา แล้วก็ต้องหงุดหงิดกับการประกาศเลื่อนเวลาปิดจุดเปลี่ยนอุปกรณ์ไปเรื่อย ๆ สลับกับเสียงประกาศเรื่องเปลี่ยนหมวกว่ายน้ำที่แจกผิดซึ่งยังตามมาหลอกหลอนเช้านี้อีก เดิน warm up ก็แล้ว เดินหาคนรู้จักก็แล้ว ซัดน้ำเต้าหู้อุ่น ๆ ฆ่าเวลาก็แล้ว ก็ยังไม่เริ่มงานเสียที สุดท้ายก็มารู้เหตุผลหนึ่งที่เลื่อนเวลา เพราะพอ 06:00 น. ฟ้าก็ยังมืดสนิท นักกีฬาก็ยืนรอพระอาทิตย์ขึ้นกันไป ความจริง นอนต่อได้เป็นชม.




ว่ายน้ำ 
ระยะทาง 1.5 กม.
เวลา 40:23 นาที
Pace 2:41 นาที/100 ม.
เส้นทางว่ายน้ำเป็นรูปสามเหลี่ยมให้ว่ายวนขวาตามที่ถนัด การปล่อยตัวพร้อมกันหมดไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแออัด เพราะนักกีฬาไม่ถึงร้อยคน แต่ปัญหากลับเป็นคลื่นที่แรงพอสมควร กับไม่มีแนวทุ่นไข่ปลาให้เล็งแบบทุกครั้ง จะอาศัยนักกีฬาคนอื่น ก็มองไม่เห็นเพราะกลืนไปกับคลื่น ผมเลยว่ายเป๋ออกนอกแนวหลายครั้งตามรูปข้างบน อีกเรื่องที่เป็นกังวลคือ ตะคริวในน้ำเวลาว่ายฝ่าคลื่น แต่งานนี้ผมพ่นสเปรย์กันตะคริวมาแล้ว จึงไม่มีปัญหาเลย

ความที่ไม่มีทุ่นไข่ปลา มีแต่เรือหางยาวลอยเป็นหมายอยู่ไม่กี่ลำ เรือช่วยเหลืออื่น ๆ ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับงานอื่น ความรู้สึกจึงเหมือนมาว่ายน้ำทะเลโต้คลื่นกับเพื่อน ไม่ได้กดดันอะไร ใช้วิธีว่ายฟรีสไตล์สลับกบเพื่อเล็งทิศเป็นช่วง ๆ ไปเรื่อย ๆ แต่ก็มีเรื่องตื่นเต้นเล็กน้อยจนได้ตรงจุดเปลี่ยนทิศแรก ที่เรือหางยาวก็โต้คลื่นไปด้วยจนคุมทิศไม่ได้ หันหางเสือเรือออกมาด้านนอก แถมโยกกระดกขึ้นลงอย่างน่าหวาดเสียว มีเสียงนักกีฬาตะโกนลั่นฝ่าคลื่นให้หลบกันเอาเอง ที่เหลือก็ต้องว่ายตีวงอ้อมเพื่อความปลอดภัย

ช่วงว่ายขนานกับฝั่ง คลื่นลูกโตที่ซัดข้างตลอด ทำให้เล็งทิศลำบาก พอว่ายฟรีสไตล์สวนออกก็เฉออกนอกมากไป ต้องเปลี่ยนเป็นว่ายกบเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งวกกลับเข้าฝั่งซึ่งเป็นช่วงพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว สนุกมากกับการว่ายบนยอดคลื่น ได้ผ่อนแรงดี 

Transition 1
เวลา 01:04 นาที
ขึ้นจากน้ำ จะต้องวิ่งผ่านชายหาด ขึ้นบันไดแล้วข้ามถนนเข้าไปใน transition ซึ่งอยู่ในศูนย์การค้าข้างใน จึงไม่น่าเชื่อว่าจะใช้เวลาแค่นาทีกว่าเท่านั้น ไม่แน่ใจว่าเขาจับเวลาที่จุดไหน แต่ก็ต้องถือว่าทำเวลาได้ดี เพราะไม่ต้องเสียเวลาใส่ถุงเท้า และเตรียมของไว้เรียบร้อยก่อนหน้าแล้ว




จักรยาน
ระยะทาง 40 กม.
เวลา 1:26:51 ชม.
Pace 27.6 กม./ชม.
ปั่นจักรยานงานนี้เรียกได้ว่าวิบาก ถึงเส้นทางจะไม่มีเนินเลย แต่เพราะบางช่วงไม่ปิดถนน มีการก่อสร้าง ก้อนกรวดไหล่ทางเยอะมาก และที่สำคัญ ฝนตกหนัก ยังดีที่ผมเปลี่ยนมาใช้เสือหมอบ Trek Madone SL7[6] ซึ่งทรงตัวได้ดีมากแล้ว ถ้ายังใช้ Mosso[7] คันเดิม ก็ไม่รู้ว่าจะลื่นล้มไหม

เส้นทางช่วงแรกตั้งแต่ออกจากหาดนพรัตน์ธาราจนถึงแยกนาตีนมีการก่อสร้างและไม่ปิดถนน ผมปั่นชิดซ้ายที่ไม่มีไหล่ทางอยู่ได้สักพัก ก็ได้ยินเสียงจักรยานยนต์ตามหลังมาประกบ นึกว่าเป็นเสียงรถ marshall เหมือนสนามอื่น แต่พอหันกลับไป อ้าว..กลายเป็นรถครอบครัวซ้อนสี่ 

พอถึงทางหลวงหมายเลข 6024 ไปคลองม่วง ซึ่งเป็นถนนใหญ่ ก็เจอฝนเข้าพอดี..หนักมาก นับเป็นการปั่นจักรยานกลางฝนหนักครั้งแรกของผม เดิมที่คิดว่าพอออกถนนใหญ่แล้วจะได้ปั่นทำเวลา เจอฝนเข้าแบบนี้ ก็ทำใจได้เลย แค่ปั่นประคองให้ปลอดภัยที่สุดเป็นพอ กว่าฝนจะซา ก็ปั่นขึ้นรอบสองแล้ว แต่ถนนก็ยังเปียกมาก ต้องระวังต่ออยู่ดี แต่ก็ดีไปอย่างคือไม่ร้อน ไม่เหนื่อยเลย 

ความที่ปั่นไปเรื่อย ๆ heart rate ผมอยู่ใน zone 2-3 เป็นส่วนใหญ่ 71% มีขึ้นไป zone 4 20% และแทบไม่มี zone 5 เลย peak ที่สุดอยู่ที่ 157 ช่วงเร่งปั่นบนถนนเลียบชายหาดก่อนกลับเข้า transition แต่มีปัญหาตะคริวจับน่องซ้ายจนปวด ตอนบังคับรถ u-turn ตรงจุดกลับตัวสุดท้ายที่ปลายทางหลวงหมายเลข 6024 เลยต้องผ่อนแรงอยู่พักใหญ่ถึงหาย ปั่นต่อได้ไม่ต้องหยุด

Transition 2
เวลา 02:03 นาที
ตอนเดินจูงจักรยานเข้า transition ไม่เหนื่อย ยังวิ่งเหยาะ ๆ ได้ เพราะฝนพรำดับร้อนได้ดี ใน transition ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาจนหมดขวดทีเดียว แต่ลืมพก Angel Ball [8]ใส่กระเป๋าไปกินกลางทางแบบทุกครั้ง




วิ่ง
ระยะทาง 10 กม.
เวลา 1:01:43 ชม.
Pace 6.02 นาที/กม.

งานนี้ เส้นทางวิ่งเป็นถนนเลียบชายหาดนพรัตน์ธาราสองรอบ นักกีฬาต้องวิ่งร่วมทางไปกับรถทุกขนาดที่อยากจะบอกว่า ยังคงใช้ถนนอย่างปกติ จึงต้องใช้สัญชาตญานระวังภัยและอาศัยทักษะหลบหลีกสิ่งกีดขวางไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

ฝนที่ยังพรำเบา ๆ อยู่ตลอด ดูหลักฐานจากภาพด้านบนได้ ช่วยให้อากาศไม่ร้อนเลย วิ่งไปได้เรื่อย ๆ แต่เพื่อความไม่ประมาท พอขึ้นรอบสอง ผมก็ชะลอแวะเติมน้ำที่จุดให้น้ำทุกจุด โดยไม่ต้องหยุดเดินยาวเลย

heart rate ครั้งนี้แตกต่างจากทุกครั้ง คือ เต้นเร็วเฉพาะช่วงต้นเท่านั้น คือพอวิ่งออกจาก transition ก็เต้นเร็วเลยประมาณ 10 นาทีก็ peak ที่ 177 แล้วอีก 10 นาทีต่อมาก็ลดลงมาคงที่ไปจนจบ อยู่ใน zone 3 ตลอดถึง 83% สันนิษฐานเอาเองว่า ที่เป็นอย่างนี้เพราะ พอเริ่มออกวิ่ง ไม่ทันเตรียมตัวเตรียมใจว่าจะต้องวิ่งร่วมทางกับรถสารพัดชนิด จนกระทั่งทำใจได้แล้วนั่นแหละ หัวใจจึงเต้นปกติ



รวมเวลา 3:12:12 ชม.
โดยรวมทำเวลาครั้งนี้ได้ไม่ดีนัก แต่ผมกลับรู้สึกพอใจกับผลงานพอสมควรกับสนามโหดแบบนี้ ว่ายน้ำต้องฝ่าคลื่น ปั่นก็ต้องฝ่าฝน มีวิ่งอย่างเดียวเท่านั้นที่ค่อนข้างสบายกว่าทุกครั้ง เพราะไม่มีแดด มีแต่สายฝนพรำ แล้วก็ได้เห็นข้อดีอีกข้อของการไม่ใส่ถุงเท้า คือ เวลาฝนตก เท้าเราไม่แฉะชุ่มน้ำ ยังปั่นและวิ่งได้สะดวกดี

2022-06-26

S: สงขลาไตรกีฬา 2565: สงขลา - Songkhla Triathlon 2022: Songkhla

 S: ระยะสั้น - Sprint distance

     สงขลาไตรกีฬา 2565 - Songkhla Triathlon 2022
     สงขลา - Songkhla


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
เริ่มประชาสัมพันธ์ทาง Facebook [1] ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน มีรายละเอียดทุกอย่างครบถ้วนก่อนเปิดรับสมัครช่วงกลางเดือนเมษายน ก่อนงานถึง 2 เดือน ผู้ดูแล Facebook ตอบคำถาม inbox รวดเร็วและตั้งใจมาก 
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยในงานชัดเจนและเป็นกันเองดีมาก แต่ไม่มีภาคอังกฤษ และควรมีแผนผังแสดงพื้นที่จัดงาน เช่น จุดลงทะเบียน ลานจอดรถ อาหาร สุขา สินค้า ติดตั้งไว้หลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าออก ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นได้ชัดเจน 
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
ไม่ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องสถานที่จอดรถ และมีการแข่งขันกีฬารายการอื่นในบริเวณใกล้เคียง ไม่แน่ใจว่าสถานที่จอดรถเป็นของงานใด แต่สามารถจอดข้างถนนตรงชายหาดและถนนใกล้เคียงได้
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
มีการชี้แจงรายละเอียดเส้นทางการแข่งขันและกฏกติกาต่าง ๆ ภาคไทย ไม่มีภาคอังกฤษ นักกีฬาที่ไม่ได้มาฟังในงาน สามารถรับชมทาง facebook live ได้สะดวกมาก แต่ไม่สามารถจัดการให้นักกีฬาปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดได้
การลงทะเบียน การจัดการ
การลงทะเบียนให้บริการรวดเร็วดีมาก มีมาตรการป้องกันโควิดเป็นอย่างดี การใช้พื้นที่จัดงานเป็นสัดส่วนชัดเจน ทำได้ดีมาก 
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
เส้นทางว่ายน้ำตามเข็มนาฬิกาเป็นรูปสามเหลี่ยม มีทุ่นบอกระยะมองเห็นชัดเจน การปล่อยตัวเป็น wave แยกตามกลุ่มอายุและอนุญาตให้นักกีฬาใช้ bouy แสดงถึงการให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย การดูแลความปลอดภัยดีมากโดยเฉพาะจากอาสาสมัครทีม Songkhla Turtles SUP [2]
ความปลอดภัย-จักรยาน
การปิดถนนหรือควบคุมการจราจรทำได้ดีมาก มีป้ายบอกจุดเลี้ยวชัดเจน และไม่ซ้อนเส้นทางวิ่งเหมือนปีก่อน
ความปลอดภัย-วิ่ง
ปีนี้ปรับเปลี่ยนมาวิ่งภายในสวนสาธารณะและสนามกีฬาติณสูลานนท์ ซึ่งมีความปลอดภัยสูงมาก ไม่ซ้ำซ้อนกับการแข่งขันอื่น เส้นทางสวยงาม มีป้ายและเจ้าหน้าที่ประจำจุดต่าง ๆ ชัดเจนดีมาก
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ควบคุมการเข้าออกได้ดีมาก สามารถนำจักรยานและอุปกรณ์เข้าไปเก็บในช่วงเช้าวันแข่งขันและสามารถกลับเข้าไปเก็บของหลังงานได้รวดเร็ว ไม่ต้องรอนาน 
การแพทย์
มีความพร้อมทั้งบริเวณส่วนกลางและตามเส้นทางการแข่งขัน มองเห็นรถพยาบาลชัดเจน ทำให้แข่งขันด้วยความมั่นใจอุ่นใจ
อาหาร เครื่องดื่ม
อาหารและเครื่องดื่มตลอดเส้นทางการแข่งขันและส่วนกลางมีเพียงพอและบริการรวดเร็วดีมาก โดยเฉพาะไอศกรีมโคน ชอบมาก

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Sprint ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป


ผมตั้งใจลงงานนี้ทุกครั้งเพราะบ้านอยู่สงขลา อยากมีส่วนร่วมสนับสนุนให้สงขลาเป็นเมืองกีฬา และผมเริ่มเล่นไตรกีฬาสนามนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตใน [สงขลาไตรกีฬา ครั้งที่ 2] จึงอยากใช้เป็นสนามเปรียบเทียบผลงานของตนเอง โดยสนามนี้นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ห่างจากครั้งที่สอง [สงขลาไตรกีฬา 2562] ถึง 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิดที่ต้องหยุดจัดไป ซึ่งผู้จัดก็สามารถจัดงานได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าชื่นชมและเป็นกำลังใจให้

คืนก่อนแข่ง ผมไม่ได้จองที่พักค้างคืนในตัวเมืองสงขลาเหมือนครั้งก่อน ๆ เพราะจากประสบการณ์งาน  [ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบ] ผมสามารถขับรถจากบ้านที่หาดใหญ่มาถึงสงขลาตอนเช้ามืดใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที จะได้นอนบ้านสบาย ๆ แล้วตื่นตี 4 ครึ่งตามปกติ มีเวลาทำกิจวัตรประจำวัน แต่งตัว ขับรถแบบไม่เร่งรีบทันเวลาปล่อยตัวตอน 6:40 น. ได้อย่างสบาย

ผมจอดรถตรงถนนข้างโรงเรียนวรนารีเฉลิม เพราะเห็นมีนักกีฬาหลายคนจอดรถกันตรงนั้น และไม่แน่ใจเรื่องที่จอดรถที่ใกล้บริเวณงานกว่านี้ แล้วปั่นจักรยานฝ่าด่านนักปั่นของอีกงาน คือ ปั่นปันสุข หยุดมะเร็ง [3] ซึ่งจัดที่สนามกีฬาติณสูลานนท์ ใกล้ ๆ กัน เข้าไปเก็บรถใน transition เพราะครั้งนี้เขาอนุญาตให้เอารถเข้าตอนเช้าก่อนงานได้

     ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/Songkhlatriathlon

     ขอบคุณภาพจาก https://photo.thai.run

ว่ายน้ำ 
ระยะทาง 0.75 กม.
เวลา 19:17 นาที
Pace 2:34 นาที/100 ม.
จุดปล่อยตัวยังเป็นชายหาดด้านหลังวงเวียนคนอ่านหนังสือเหมือนเดิม วันนี้ทะเลเรียบ และเป็นช่วงพระอาทิตย์กำลังขึ้นพอดี การปล่อยตัวเป็นกลุ่มทำให้นักกีฬาไม่แออัด ทำให้บรรยากาศเป็นใจมากกับการว่ายน้ำทะเลกับเพื่อนตอนเช้าแบบนี้ ผมยังอยู่ตำแหน่งเดิม คือ ซ้ายสุดห่างจากกลุ่มเล็กน้อย แล้วว่ายตามเส้นทางรูปสามเหลี่ยมวนขวาเล็งทุ่นไปสบาย ๆ ตลอดทาง ทำเวลาได้ดีกว่าครั้งก่อนด้วย

Transition 1
เวลา 03:31 นาที
ขึ้นจากน้ำ จากชายหาด ต้องข้ามถนนมาเข้า transition มีระบบฝอยน้ำตรงทางเดินให้ล้างตัวดีมาก ใน transition ผมทำเวลาเปลี่ยนชุดเร็วขึ้นชัดเจน เพราะม่ต้องเสียเวลาใส่ถุงเท้าแยกนิ้ว ไม่ต้องกินน้ำ แล้วออกไปปั่นจักรยานต่อได้เลย


     ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/Songkhlatriathlon

จักรยาน
ระยะทาง 20 กม.
เวลา 42.55: นาที
Pace 27.96 กม./ชม.
เส้นทางจักรยานราบเรียบไม่มีเนิน เป็นถนนริมหาดชลาทัศน์ค่อนข้างตรงตลอดสาย มีเลี้ยวมาเข้าถนนหน้าหาดสมิหลานิดหนึ่ง แล้วก็วกกลับมาปั่น 2 รอบ ปีนี้การควบคุมการจราจรดีมากหมือนเดิม และไม่ต้องคอยระวังนักกีฬาที่วิ่งอยู่บนถนนริมหาดเหมือนครั้งก่อนด้วย ทุกอย่างน่าจะช่วยให้ผมปั่นได้ดี แต่...

ผมปั่นเสือหมอบ Trek Madone SL7 [4] เดิมตั้งใจว่าจะปั่นทำเวลา แต่กลับทำไม่ได้ รู้สึกว่าจักรยานฝืดแปลก ๆ รู้ตัวเลยว่าครั้งนี้ปั่นช้าลงกว่าเดิม ต้องใช้กำลังขามากขึ้น ก็คิดเองว่า ขาคงไม่มีแรง แต่ตรงกันข้าม อัตราเต้นของหัวใจผมกลับเร็วกว่าทุกครั้งอย่างไม่น่าเชื่อ แถมเกิดอารมณ์หงุดหงิดที่เจอนักกีฬาที่ปั่นกันเป็นกลุ่ม draft กันชัด ๆ และมีประเภทแซงซ้ายด้วย ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 146 ครั้ง/นาที peak สูงสุดขึ้นไปถึง 177 ครั้ง/นาที หลังงานเลยเอาจักรยานไปให้คุณชัย Hatyai Mountain Bike [5] ช่วยตรวจดู ถึงรู้ว่า เบรคมันล็อค ซึ่งก็คงไม่ต่างจาก ขับรถยนต์แล้วดึงเบรคมือ และสอนวิธีตรวจเองง่าย ๆ ให้

Transition 2
เวลา 01:05 นาที
ใน transiton ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาจนหมดขวด ยังไม่รู้สึกทั้งเหนื่อยและหิว พร้อมแล้วก็ออกไปวิ่งได้เลย


     ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/Songkhlatriathlon

วิ่ง
ระยะทาง 5 กม.
เวลา 31:35 นาที
Pace 6.19 นาที/กม.
เส้นทางวิ่งครั้งนี้ เปลี่ยนจากถนนเลียบหาดชลาทัศน์มาเป็นเส้นทางวิ่งโดยเฉพาะในสวนสาธารณะและสนามกีฬาติณสูลานนท์ ซึ่งปลอดภัยสูงมาก ผมวิ่งได้เรื่อย ๆ รวดเดียว แวะเดินตอนถึงจุดให้น้ำนิดหน่อยเท่านั้น ถึงจะไม่รู้สึกหิวน้ำ แต่อากาศร้อนเอาเรื่อง เลยแวะกินน้ำป้องกันไว้ก่อนดีกว่า  

ความร้อนทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ย 158 ครั้ง/นาที peak สูงสุดขึ้นไป 170 ครั้ง/นาที การเต้นของหัวใจผมเป็น zone 5 คือ มากกว่า 152 ครั้ง/นาที ถึง 78% เป็น zone 4 คืออัตรา 144-152 ครั้ง/นาที 17%

ค่อนข้างแปลกใจกับผลการวิ่งที่ชิพบันทึกให้เป็นทางการ ช้ากว่าที่คิดมาก ทั้ง ๆ ที่รู้สึกว่าวิ่งทำเวลาได้ค่อนข้างดี และพักเดินนิดเดียว อย่างน้อย pace ก็ไม่น่าจะมากกว่า 6 นาที/กม. แต่พอดูระยะที่ Garmin จับเอง ระยะทางทั้งหมดแถมขึ้นไปถึง 5.34 กม. pace 5.53 นาที/กม. ผมค่อนข้างเชื่อตัวเลขหลังมากกว่า

     ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/Songkhlatriathlon
     ขอบคุณภาพจาก https://www.sportstats.asia

รวมเวลา 1:38:23 ชม.
ครบรอบครั้งที่สามกับไตรกีฬางานเดียวกัน ถึงจะทำเวลาช้ากว่าคราวที่แล้ว แต่ก็เห็นทั้งการพัฒนาและจุดอ่อนของตัวเองชัดเจน การว่ายน้ำทำได้ดี ไม่กังวลมากเหมือนเมื่อก่อน วิ่งก็ถือว่าดีขึ้น ส่วนจุดอ่อน ก็ได้เรียนรู้ว่า จักรยานก็มีเบรคล็อค และอารมณ์ซึ่งเป็นเรื่องภายในของตัวเองมีผลกระทบแรงทีเดียว 

2022-06-19

O: อเมซิ่งเรซและไตรกีฬา: พัทลุง - Amazing Race Festival & Triathlon: Phatthalung

O: ระยะ:โอลิมปิก - Olympic distance

อเมซิ่งเรซและไตรกีฬา: - Amazing Race Festival & Triathlon
หาดลำปำ พัทลุง - Lum Pum Beach Phatthalung


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
ประชาสัมพันธ์การแข่งขันทาง Facebook [1] ก่อนล่วงหน้างานแค่ 2 สัปดาห์ และหลังจากนั้นเปิดให้สมัคร online 3 วัน ค่อนข้างกระชั้นมาก ถ้าประชาสัมพันธ์นานกว่านี้ น่าจะมีคนเข้าร่วมมากกว่านี้ แต่กำหนดวันแข่ง สถานที่ และข้อมูลการแข่งขันที่แจ้งก่อนล่วงหน้าละเอียดดีมาก 
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยและภาคอังกฤษชัดเจนได้ยินทั่วถึงบริเวณที่จัดงานและเป็นกันเองดี แต่พื้นที่จัดงานค่อนข้างกว้าง และมีการแข่งขันหลายประเภทมาก ควรมีแผนผังแสดงพื้นที่จัดงาน เช่น จุดลงทะเบียน ลานจอดรถ อาหาร สุขา สินค้า ติดตั้งไว้หลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าออก ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นได้ชัดเจน 
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
สถานที่จอดรถอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่จัดงาน พื้นที่กว้างขวางเพียงพอ แต่ถนนทางเข้าที่จอดรถค่อนข้างแคบ การจราจรติดขัดในช่วงที่รถเข้ามาจำนวนมาก มีรถสองแถวบริการจากในตัวเมืองพัทลุงแต่มีค่าใช้จ่ายคนละ 20 บาท
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
ไม่แน่ใจว่าในวันลงทะเบียนมีการชี้แจงรายละเอียดตามกำหนดเวลาหรือไม่ เพราะผมเดินทางไปไม่ทัน แต่ช่วงเช้าก่อนการแข่งขัน การชี้แจงเส้นทางการแข่งขัน จุดเสี่ยงและกฏกติกาต่าง ๆ สั้น กระชับดีมากทั้งภาคไทยและอังกฤษ โดยมีภาพให้เห็นบนจอด้วย ขำที่คุณธเนศและคุณโซเฟียต้องวิ่งไปอธิบายไป อยากให้โดนวิ่งแบบนี้อีก
การลงทะเบียน การจัดการ
การจัดการลงทะเบียนตามมาตรการป้องกันโควิดเป็นระบบ รวดเร็วดีมาก การใช้พื้นที่จัดงานทำได้ดี บริการต่าง ๆ ไม่ต้องรอคิวนาน แต่เนื่องจากมีการแข่งขันหลายประเภท และคนจัดงานให้ความสำคัญกับแขกวีไอพีที่มาร่วมงาน การปล่อยให้นักกีฬา elite ต้องมายืนรอพิธีการและดูการแข่งขันอื่นก่อนการแข่งขัน ไม่เหมาะสม
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
สถานที่แข่งขันใช้ทะเลสาบสงขลาช่วงปากแม่น้ำลำปำซึ่งไหลมาจากชุมชนด้านใน มีแนวทุ่นชัดเจนและมีทีมดูแลความปลอดภัยดีมากให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยโดยอนุญาตให้นักกีฬาใช้ buoy ได้ การปล่อยตัวนอกจากแยกตามกลุ่มความเร็วแล้ว ยังทะยอยปล่อยตัวในแต่ละกลุ่มคราวละ 4-5 คนด้วย ทำให้ไม่แออัดในน้ำ ทำได้ดีมาก
ความปลอดภัย-จักรยาน
เส้นทางปั่นใช้ทางหลวงหมายเลข 4007 ลำปำ-ทะเลน้อย ซึ่งการจราจรไม่หนาแน่น ถึงจะไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด มีรถแทรกเข้ามาบ้าง แต่มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัยให้นักกีฬาได้ดีมาก เส้นทางสะอาดเรียบร้อย มีป้ายแสดงระยะทาง จุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่กำกับอย่างดีตลอดเส้นทาง 
ความปลอดภัย-วิ่ง
เส้นทางวิ่งใช้การปิดทางหลวงหมายเลข 4047 ถนนอภัยบริรักษ์ขนาด 6 เลนไปครึ่งหนึ่ง แล้วปล่อยให้รถผ่านได้เป็นระยะ ไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด แต่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมได้ปลอดภัยดีมาก มีป้ายแสดงจุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจน 
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่จุดเปลี่ยนอุปกรณ์ค่อนข้างแคบ เส้นทางจากบริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์ไปจุดว่ายน้ำระยะทางไกลและมีจุดต่างระดับหลายจุด การแข่งขันมีหลายประเภทและระยะโอลิมปิกต้องวน 2 รอบ ทำให้สับสนเส้นทางเข้าออกพอสมควร แต่การควบคุมการเข้าออกทั้งก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขันทำได้ดี การให้ทยอยเข้าพื้นที่เป็นเวลานานทำให้ไม่แออัด 
การแพทย์
การเฝ้าระวัง การป้องกันโควิดบริเวณจัดงานทำได้ดี การบริการทางการแพทย์มีการเฝ้าระวังดี ทั้งระหว่างเส้นทางและที่ส่วนกลาง
อาหาร เครื่องดื่ม
จุดให้น้ำในเส้นทางแข่งขันมีเพียงพอ และการบริการดีมาก อาหารบริเวณส่วนกลางที่จัดเป็นชุด ๆ ให้นักกีฬาใช้คูปองแลก มีเพียงพอ ไม่แออัด จัดการเรื่องคิวและป้องกันโควิดได้ดีมาก

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Olympic ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป


ไตรกีฬางานนี้ต้องเรียกว่า มาเร็ว เคลมเร็ว ถ้ารุ่นน้องไม่โพสต์แจ้งในกลุ่ม OSK TRI [2] ผมก็คงไม่ทราบ ประชาสัมพันธ์ก่อนงานก็กระชั้นมาก มีเวลาให้ลงทะเบียนฟรีไม่กี่วัน ต้องย้ำตรงคำว่า ฟรี ด้วย 

ผมต้องตัดสินใจหนักสองต่อ ทั้งจะสมัครดีมั้ย เพราะมาปาดหน้างานที่ลงทะเบียนไว้ก่อนนานแล้ว คือ [สงขลาไตรกีฬา 2565] แค่อาทิตย์เดียว และที่หนักใจกว่า คือ สมัครไปแล้ว จะลงแข่งดีมั้ย เพราะมาได้คำตอบที่ถามไปทาง FB ตอนเดินทางจะถึงพัทลุงอยู่แล้วว่า ระยะ Olympic ที่สมัครนั้น ไม่ใช่ ว่าย-ปั่น-วิ่ง เป็นสองเท่าของระยะ Sprint ตามปกติ แต่เป็นสองรอบ คือ ว่าย-ปั่น-วิ่ง--ว่าย-ปั่น-วิ่ง ซึ่งผมไม่เคยแข่งแบบนี้มาก่อน ส่วนตัวแล้ว คิดว่าค่อนข้างอันตราย ตรงช่วงรอยต่อจากวิ่งรอบแรกที่ร่างกายร้อนจัด หัวใจเต้นแรง แล้วไปลงว่ายน้ำรอบสอง ทางเลือกของผมคือ กลับ ไม่แข่ง กับ พักช่วงรอยต่อนั้นนานขึ้น ผมเลือกวิธีที่สอง เพราะยังอยากลองสนามที่ลำปำ และมั่นใจในคุณธเนศ race director 

ผมออกจากหาดใหญ่เผื่อเวลาไว้สบาย ๆ 2 ชม. เพราะปกติผมขับรถจากหาดใหญ่-พัทลุงแค่ชม.ครึ่ง จะได้ไปลงทะเบียนและฟัง race brief พอดี แต่ลืมไปว่าถนนสายเอเชียช่วงนั้น มีทั้งก่อสร้างสะพานลอยที่แยกคูหาและกำลังทำถนนแทบจะตลอดทาง บางช่วงเรียกว่าจอดสนิท ใช้เวลาไป 2 ชม.ครึ่ง ผมพยายามเปิด FB บนรถเผื่อว่าจะมีถ่ายทอด FB live race brief แต่ก็กลายเป็นถ่ายทอดการแข่งขันรายการอื่นของงานนี้ ซึ่งจัดหลายอย่างมาก สุดท้ายต้องใช้วิธีสอบถามทาง inbox กับคำถามคาใจเรื่อง ว่าย-ปั่น-วิ่งX2 ซึ่งก็มาได้คำตอบอันน่าตกใจตามย่อหน้าข้างบนในรถ ก่อนถึงสถานที่จัดงาน

พอถึงที่จัดงานตรงหาดลำปำ เห็นสภาพรถต่อแถวยาวเหยียดเข้าถนนแคบ ๆ ไปที่จอดรถแล้ว ผมต้องถามน้องที่ช่วยอำนวยความสะดวกอยู่ตรงนั้นว่า มีทางเลือกอื่นมั้ย น้องเขาแนะนำให้เลี้ยวกลับทางเก่าแล้วจอดรถริมถนนใหญ่ก็ได้ ซึ่งเป็นคำแนะนำที่ดีมาก ถึงจะต้องเดินกลับมาไกลหน่อย และต้องนับถือน้ำใจน้องกลุ่มนี้มาก ทั้งแดดร้อนจัด ทั้งต้องรองรับอารมณ์ผู้คนเพราะการจราจรติดขัดจากคนเห็นแก่ตัวไม่กี่คน

จุดลงทะเบียนอยู่ตรงปากทางหน้างานเลย บริการได้รวดเร็วเป็นระบบมาก แต่พอถัดจากจุดนี้เข้าไปข้างใน พื้นที่จัดงานกว้างมาก และจัดการแข่งขันหลายประเภท แต่ไม่มีแผนที่แสดงว่าจุดไหนเป็นอะไร แถมกำลังจะเริ่มแข่งขันชักคะเย่อกับไตรกีฬามืออาชีพด้วย ทุกอย่างมันเลยดูสับสนงง ๆ ไปหมด ระหว่างผมเดินสำรวจพื้นที่แบบหลง ๆ ก็มีคนเข้ามาถามผมเรื่องจุดลงทะเบียนถึงสองกลุ่ม 

งานนี้เป็นไตรกีฬาครั้งแรกที่ผมมาไม่ทัน race brief หนักใจพอสมควร เพราะปกติ race director คนนี้จะมีข้อมูลดี ๆ เป็นประโยชน์มาแจ้งเสมอ หลังทำใจเรื่องนั้นได้ ก็ถือโอกาสดูชักคะเย่อกับไตรกีฬามืออาชีพที่กำลังจัดอยู่ตอนนั้น โชคดีมาก ได้เห็นเทคนิคและทักษะของนักกีฬาระดับโลกและทีมชาติหลายเรื่อง 
 
ครั้งนี้เขาไม่ได้ให้เอารถจักรยานเข้าไปเก็บใน transition ก่อนล่วงหน้า เพราะต้องใช้พื้นที่แข่งขันอย่างอื่นอยู่ ผมเลยขับรถไปที่พัก ความที่ไม่อยากพักโรงแรมในเมือง และลำปำรีสอร์ตใกล้งานที่สุดก็เต็มแล้ว ผมเลือกที่พักที่ ริมเลปาร์ครีสอร์ต [3] ซึ่งอยู่บนเส้นทางเลียบทะเลสาบจากลำปำไปทะเลน้อย ห่างจากที่จัดงานประมาณ​ 10 กม. แล้วเป็นเส้นทางที่ใช้แข่งจักรยานด้วย จึงถือโอกาสสำรวจทางไปในตัว อุ่นใจขึ้นมากเพราะเป็นทางราบเรียบตลอด ไม่มีเนินเลย จุดกลับตัวอยู่ตรงหน้าร้านอาหาร บ้านแม่หนูพริ้มริมเล [4] ที่ผมฝากท้องเป็นอาหารเย็นแบบไทย ๆ วันนั้น ก่อนที่ฝนจะถล่มลงมาเหมือนพายุเข้าตอนช่วงค่ำ รู้สึกเป็นห่วงแทนคนจัดงานเหมือนกันว่า วันแข่งพรุ่งนี้เช้าจะเป็นอย่างไร เส้นทางท่ีดูแลสะอาดเรียบร้อยดีแล้ว หลังพายุ สภาพจะเยินแค่ไหน 

พี่เจ้าของรีสอร์ตบอกว่า ตอนเช้าจะปั่นจักรยานไปลำปำก็ได้ แกปั่นอยู่ประจำประมาณครึ่งชม. เท่านั้น แต่ผมดูเวลาแล้ว ช่วงก่อนหกโมงเช้า น่าจะยังมืดอยู่ จึงตัดสินใจไม่ปั่นไปดีกว่า ตั้งใจว่าจะไปหาที่จอดรถแถววัดใกล้งานแทน แล้วเข้านอนตามปกติ

หลับได้ยาวสบายมาก จนตื่นเช้าตี 4 ครึ่งตามปกติ ไม่ได้ยินเสียงข้างห้องซึ่งเป็นนักวิ่งงานเดียวกันที่ต้องออกจากที่พักตั้งแต่ตี 4 เพราะรายการนั้นปล่อยตัวตี 5 ผมกินกล้วยที่เตรียมมากับทำกิจวัตรตามปกติ ก่อนขับรถออกจากที่พักแบบสบาย ๆ ตอนตี 5 ครึ่ง ฟ้ายังมืดสนิท แต่เริ่มมีชาวบ้านออกมาทำงานและเดินออกกำลังข้างถนนกันพอสมควร 

เส้นทางข้างวัดป่าลิไลยก์ของพระอาจารย์ทวี พระนักพัฒนาที่ผมเคยได้ปรนนิบัติท่านตอนอยู่ออสเตรเลียปิดถนน เพราะกลายเป็นเส้นทางปั่นจักรยานที่ถูกปรับจากเดิมเล็กน้อย แต่ถนนเส้นถัดมาซึ่งเป็นทางเข้าที่จอดรถของงานอีกด้านเปิดทางสะดวก จึงตัดปัญหาเรื่องที่จอดรถไปได้เลย ผมประกอบจักรยานข้างรถแล้วปั่นเข้าไปในงานตามเส้นทางปั่นจักรยานช่วงแรก แล้วเอาของไปเก็บใน transition

ช่วงเข้าก่อนปล่อนตัวไตรกีฬา กลายเป็นช่วง race brief แทนโดยไม่ทราบมาก่อน ซึ่งคุณธเนศ race director ก็ brief สดแบบทำให้ดูเป็นตัวอย่างถ่ายทอดขึ้นจอ projector อย่างละเอียด วิธีนี้ดีไปอย่าง นักกีฬาได้ฟังกันพร้อมหน้า ตัดปัญหาคนไม่มาฟังไปได้เลย 

         
               ขอบคุณภาพจาก Facebook: Amazing Race Festival & Triathlon
ว่ายน้ำ 1
ระยะทาง 0.75 กม.
เวลา 25:14 นาที
Pace 3:21 นาที/100 ม.
การทะยอยปล่อยตัวนักกีฬา และน้ำในทะเลสาบซึ่งไม่มีคลื่น น่าจะช่วยให้ผมว่ายได้ดีกว่าทุกครั้ง แต่มาเจอเส้นทางรูปสามเหลี่ยมว่ายวนซ้ายเป็นครั้งแรก เล่นเอาผมเมาทิศไปตั้งแต่ลงน้ำ ความที่ถนัดเงยหน้าหายใจด้านขวาเป็นข้างเดียว เลยเล็งทุ่นที่อยู่ซ้ายมือไม่ได้ ไม่นานผมก็ว่ายเฉออกนอกเแนวไปไกล ต้องว่ายย้อนกลับมาเสียทั้งแรงและเวลา แถมครั้งนี้จะอาศัยดูนักกีฬาคนอื่นก็ไม่ได้ เพราะเขาจัดการไว้ดีจนว่ายห่างกันพอสมควร ต้องเปลี่ยนเป็นท่ากบเพื่อเล็งทิศสลับมากกว่าทุกครั้ง

น้ำทะเลสาบไม่มีคลื่นซัดและค่อนข้างตื้นแบบเดินได้ เรื่องความปลอดภัยจึงไม่มีปัญหา แต่น้ำเดี๋ยวเย็นเดี๋ยวอุ่น ทำให้จินตนาการเรื่องทองหรืออุจจาระที่ลอยมาจากชุมชนด้านในกลับมาตามหลอกหลอนเหมือนตอนว่ายในทะเลสาบสงขลาตอนล่างเมื่อ [ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบ]

ผมว่ายเกาะกลุ่มกลาง ๆ ใน wave หมวกสีแดงซึ่งเป็น wave ว่ายช้ารองสุดท้าย ทำเวลาได้ไม่ดีนัก สังเกตได้ว่าไม่ได้ว่ายแซง wave ก่อนหน้าเลย จนเกือบจะขึ้นฝั่ง ก็เห็นแนวทุ่นที่อยู่ขวามือตามถนัด และเห็นช่างภาพอยู่บนแพ เลยขอภาพงาม ๆ เสียหน่อย ทำเวลาไม่ดีไม่เป็นไร ขอภาพงามไว้ก่อน ตามภาพด้านบน

ตอนปีนแพขึ้นฝั่ง ต้องโหนเชือกที่เขาจัดเตรียมไว้ให้ แต่ผมทำไม่เป็น แทนที่จะใช้เท้ายันแพแล้วใช้แขนดึงเชือกขึ้นไป กลับเป็นออกแรงดึงเชือกแล้วปืนขึ้นแพ กว่าจะขึ้นได้ขาอ่อนขาพับ ผะอืดผะอมพอสมควร ไม่คิดว่าจะต้องมาทำอะไรแบบนี้

Transition 1.1
เวลา 05:10 นาที
ขึ้นจากน้ำได้ ต้องวิ่งตามทางพรมเขียวขึ้น ๆ ลง ๆ เลี้ยวไปมาไกลพอสมควรกลับมาเข้า transition คราวนี้ผมไม่ลืม ยังไม่ถอดแว่นว่ายน้ำออกก่อน จะได้มองทางชัด ใน transition ผมใช้เวลาแต่งตัวไม่นาน แต่รู้สึกว่าถุงเท้าแยกนิ้วอย่างหนาที่เอามา มันใส่ยากเย็นยิ่งนัก ก่อนกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาไม่กี่อึก แล้วจูงจักรยานออกไป

                ขอบคุณภาพจาก Facebook: Amazing Race Festival & Triathlon
จักรยาน 1
ระยะทาง 20 กม.
เวลา 0:38:25 ชม.
Pace 31.24 กม./ชม.
เส้นทางปั่นช่วงแรก ลัดเลี้ยวริมทะเลสาบ ไปเลี้ยวซ้ายเลียบกำแพงวัดป่าลิไลยก์ มีเนินสกัดความเร็วเป็นช่วง ๆ แต่พอเลี้ยวขวาออกทางหลวงหมายเลข 4007 แล้วก็เป็นทางตรงราบเรียบสะอาดสะอ้าน ปั่นง่ายมาก ทำเวลาได้ดี 

งานนี้ ผมได้ลองปั่นเสือหมอบคันใหม่ Trek Madone SL7 [5] ที่เพิ่งถอยออกมาแค่ 2 อาทิตย์เป็นสนามแรก เรื่องความเบาไม่ต่างจากคันเดิม แต่ที่ต่างไปคือ ความนิ่งและการทรงตัวดีกว่ามาก บวกกับเส้นทางที่เป็นทางราบไร้เนินตลอด ทำให้ผมปั่นทำความเร็วได้ดีที่สุดเท่าที่เคยปั่นมา

อัตราเต้นของหัวใจผม ความจริงไม่ต่างจากเดิมนัก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 142 ครั้ง/นาที ซึ่งค่อนข้างสม่ำเสมอตลอด มาเร็วขึ้นช่วงท้าย peak สูงสุดที่ 164 ครั้ง/นาที แต่ผมเพิ่งไปวิ่งสายพานและปรับช่วงแบ่ง zone ใหม่ตามผลการตรวจที่ได้ เพราะเป็นคนที่หัวใจเต้นช้ามาก ทำให้ครั้งนี้ การเต้นของหัวใจผมเปลี่ยนมาอยู่ใน zone 5 คือ มากกว่า 142 ครั้ง/นาที นานที่สุดถึง 58% รองลงไปคือ zone 4 คืออัตรา 134-142 ครั้ง/นาที 30% Garmin ที่ผมใส่เลยส่งสัญญาณเตือนตลอดช่วงปั่น

Transition 1.2
เวลา 01:46 นาที
ตอนลงจากจักรยานจูงเข้า transition รู้สึกสบาย ๆ ไม่เหนื่อย ใน transition ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาขวดแรกจนหมด แล้วพกขนม angel ball [5]ใส่กระเป๋าไป 2 ลูกไว้กินกลางทาง ทำเวลาได้เร็วมาก แต่ปัญหา คือ ผมวิ่งออกจาก transition ไปแล้วร้อยกว่าเมตร เพิ่งรู้ตัวว่า ลืมติดเลขประจำตัวตามข้อกำหนด แต่ที่ทำให้ตัดสินใจย้อนกลับไปเอา ก็เพราะกลัวว่าพอไม่เห็นเลข เวลาค้นรูปจะยาก เลยเดินย้อนกลับมาบอกเจ้าหน้าที่ประจำเส้นทาง ขอกลับเข้า transition แบบไม่ไปขวางทางนักกีฬาคนอื่น ยอมทุกอย่างเพื่อรูป

                 ขอบคุณภาพจาก Facebook: Amazing Race Festival & Triathlon
วิ่ง 1
ระยะทาง 5 กม.
เวลา 0:32:20 ชม.
Pace 6.28 นาที/กม.
ตอนวิ่งออกจาก transition ใหม่หลังติดเลขประจำตัวแล้ว ช่วงที่วิ่งผ่านกลุ่มนักวิ่งที่แข่งรายการของตนเองเสร็จแล้วยืนพักรออยู่ข้างทาง มีเสียงปรบมือให้กำลังใจ ได้แรงอกดีมาก 

เส้นทางวิ่ง คือ ถนนอภัยบริรักษ์จากตัวเมืองมาหาดลำปำที่ปิดถนนไปครึ่งหนึ่ง ไม่มีร่มเงาอะไรเลย แดดตอนเช้าก็ร้อนเอาเรื่อง ผมวิ่งได้เรื่อย ๆ หยุดเฉพาะตรงจุดให้น้ำเท่านั้น แต่ขากลับพอผ่านจุดให้น้ำได้ไม่นาน Garmin เจ้าปัญหาก็ส่งสัญญาณเตือนว่าจับ GPS ไม่ได้ คราวนี้มาแปลก มาเป็นเอาตอนวิ่ง ไม่เหมือนครั้งก่อน ๆ ที่มีอาการตั้งแต่ตอนว่ายน้ำ น่ารำคาญมาก ผมเลยกดยกเลิกบันทึกการแข่งขันไปเลย ตั้งใจว่าจะกดบันทึกใหม่ตอนออกไปว่ายน้ำรอบสอง

ข้อมูลที่ยังบันทึกเอาไว้เฉพาะครึ่งเดียวของการวิ่ง อัตราเต้นของหัวใจเฉลี่ย 152 ครั้ง/นาที peak สูงสุดขึ้นไป 164 ครั้ง/นาที การเต้นของหัวใจผมอยู่ใน zone 5 คือ มากกว่า 152 ครั้ง/นาที กับ zone 4 คืออัตรา 144-152 ครั้ง/นาที อย่างละครึ่ง  

โดยรวม ถ้าตัดเวลาที่เดินกลับไปเอาเลขประจำตัวประมาณ 2 นาที ก็ยังนับว่าวิ่งช้ากว่าเป้า

               ขอบคุณภาพจาก Facebook: Amazing Race Festival & Triathlon

Transition 1-2 
กลับจากวิ่ง มาเข้า transition งานนี้เป็นครั้งแรกที่ต้องถอดถุงเท้ารองเท้าวิ่ง เอาเลขประจำตัวออก เปลี่ยนมาใส่หมวกกับแว่นว่ายน้ำใหม่ ซึ่งความจริงก็ใช้เวลาไม่นาน แต่ผมตั้งใจจะพักคลายร้อนและให้หัวใจเต้นช้าลงสักหน่อยก่อนลงน้ำ เลยกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาขวดที่สองช้า ๆ ทั้งที่รอบตัวแทบไม่มีจักรยานจอดอยู่เลย แสดงว่าคนอื่นเขาออกไปปั่นกันหมดแล้ว เหลือบดูนาฬิกา ยังไม่ถึง 08:40 น. มีเวลาเหลือเกือบ 2 ชม. น่าจะยังพอไหว เอาปลอดภัยไว้ก่อน แต่ก็ทำให้ต้องเริ่มดูเวลาถี่ขึ้น เพื่อไม่ให้หลุด cutoff ตอน 10:30 น.
    
               ขอบคุณภาพจาก Facebook: Amazing Race Festival & Triathlon

ว่ายน้ำ 2
ระยะทาง 0.75 กม.
เวลา 21:00 นาที
Pace 2:47 นาที/100 ม.
ตั้งแต่ออกจาก transition ไปจุดลงน้ำ สัมผัสได้ถึงความเหงา เพราะไม่เห็นคนอื่นเลย ตอนกระโดดลงน้ำ เพิ่งเห็นอีกคนกำลังจะว่ายขึ้นฝั่ง ใจฝ่อไปเหมือนกัน แต่ก็ทำใจ คิดว่า ทำให้ดีที่สุดแล้วกัน

ความที่ว่ายอยู่คนเดียวและน้ำค่อนข้างนิ่ง ได้อารมณ์เหมือนกับตอนแอบไปว่ายในสระช่วงปลอดคน สมาธิดีมาก รอบสองนี้เลยว่ายได้ตรงทิศและทำเวลาดีขึ้นชัดเจน

ทะเสสาบเป็นของข้าคนเดียว ทำให้ตากล้องจับภาพผมไว้ได้สวยมาก ตามภาพข้างบน โปรดสังเกตสายน้ำได้วงแขน มืออาชีพจริง ๆ ได้ภาพชุดนี้ชุดเดียวก็คุ้มแล้ว นับเป็นครั้งแรกที่ภาพผมถูกเลือกเป็นหนึ่งในภาพ hilight ของงาน และที่สำคัญ งานนี้ภาพถ่ายฟรีทั้งหมด

ตอนปีนแพขึ้นฝั่งรอบสอง ไม่รีบร้อนและรู้จังหวะมากขึ้น ใช้เท้ายันแพแล้วใช้แขนดึงเชือกขึ้นไป เออ.. มันง่ายและใช้แรงน้อยกว่าครั้งแรกนัก จะให้ทำเป็นก็ทำได้ 

Transition 2.1
เวลา 10:05 นาที
ใน transition รอบนี้ ผมคิดว่าทำเวลาไม่นาน เพราะตัดสินใจไม่ใส่ถุงเท้าแยกนิ้วให้เสียเวลา เหลือปั่นกับวิ่งอีก 5 กม. ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่พอมาดูเวลาที่ชิพจับได้ กลับเกิน 10 นาที งงเหมือนกัน เหลือบดูนาฬิกา เลยเก้าโมงเช้ามานิดหน่อยแล้ว มีเวลาอีกไม่ถึง ชม. ครึ่ง

ช่วงที่ลากจักรยานออกจาก transition คุณธเนศมายืนดักอยู่ตรงจุดขึ้นรถ เห็นแววตาพิฆาตคู่นั้นแล้ว น่าจะมาดักตัดคนไม่ผ่าน cutoff แหง ..ขอผมผ่านไปก่อนนะครับ

                ขอบคุณภาพจาก Facebook: Amazing Race Festival & Triathlon

จักรยาน 2

ระยะทาง 20 กม.
เวลา 0:40:02 ชม.
Pace 29.98 กม./ชม.
เส้นทางปั่นรอบสอง แดดแรงขึ้นและมีผู้ร่วมทางมากขึ้น ไม่ใช่นักกีฬาคนอื่น แต่เป็นชาวบ้านที่ออกมาใช้ชีวิตประจำวันกันตามปกติ ผมปั่นออกทางหลวงหมายเลข 4007 ได้สักพัก ก็ถูกน้องมาร์แชลขับจักรยานยนต์ประกบ โอ..ไม่นะ ผมคงไม่ใช่คนสุดท้ายใช่มั้ย แล้วก็อุ่นใจขึ้น เมื่อเห็นน้องเร่งเครื่องแซงหน้าไปคอยเตือนรถชาวบ้านที่อยู่ด้านหน้าเป็นระยะให้ ต้องบอกว่า รู้สึกว่าตัวงี้พองเลย นี่เราสำคัญขนาดนั้นเลยนะ เคยเห็นแต่มาร์แชลตามประกบคนนำหน้าสุด ประทับใจและขอบคุณน้องอย่างหาที่สุดไม่ได้จริง ๆ

ที่จุดกลับตัวร้านอาหาร บ้านแม่หนูพริ้มริมเล [4] ได้ยินเสียงเจ้าหน้าที่ประจำตรงนั้นตะโกนถามน้องมาร์แชลประจำตัวผมว่า คนสุดท้ายใช่มั้ย ผมไม่ได้ยินคำตอบ แต่ก็คิดในใจ ..ไม่ต้องตอกย้ำก็ได้

ขากลับ มาร์แชลประจำตัวผมเลิกประกบผมแล้ว ผมสวนกับนักกีฬาคนอื่นที่ปั่นอยู่ฝั่งตรงข้ามนาน ๆ สักคน แต่ก็ใจชื้นขึ้นที่เราไม่ใช่คนสุดท้าย นับไปนับมา มีคนตามหลังผมอยู่ 7 คน ชาย 3 หญิง 4

พอทำใจได้ สบายใจขึ้น ไม่เร่ง ไม่ตื่นเต้น แค่คิดว่าทำยังไงไม่ให้หลุด cutoff ก็พอ ทำความเร็วลดลงมาหน่อย แต่อัตราการเต้นของหัวใจผมช่วงปั่นรอบนี้ต่ำกว่ารอบแรก ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 140 ครั้ง/นาที peak สูงสุดที่ 158 ครั้ง/นาที อยู่ใน zone 5 คือ มากกว่า 142 ครั้ง/นาที น้อยลงมาเหลือ 4% ส่วนใหญ่เป็น zone 4 คืออัตรา 134-142 ครั้ง/นาที ถึง 77% Garmin ก็เตือนน้อยลง 

Transition 2.2
เวลา 01:29 นาที
ตอนจูงจักรยานเข้า transition เห็นคนอื่นที่น่าจะแข่งเสร็จแล้วหลายคน ผมกินน้ำเกลือแร่ขวดที่สองจนหมดแล้วพกขนม angel ball [6] ใส่กระเป๋าไปกินกลางทางเหมือนเดิม คราวนี้ไม่ลืมติดป้ายหมายเลขตัวเองแล้ว ทำเวลาได้เร็วมาก ก่อนออกจาก transition ดูนาฬิกา 9:46 น. ยังมีเวลาให้วิ่งเกือบ 45 นาที พอไหว..พอไหว 

                 ขอบคุณภาพจาก Facebook: Amazing Race Festival & Triathlon

วิ่ง 2

ระยะทาง 5 กม.
เวลา 0:30:20 ชม.
Pace 6.03 นาที/กม.

วิ่งรอบสองนี้ แดดแรงขึ้นมาก ครึ่งแรกผมวิ่งได้ตลอด แค่หยุดตรงจุดให้น้ำ แต่พอผ่านจุดกลับตัวแล้ว ก็ต้องวิ่งสลับเดิน เพราะรู้สึกโหย ๆ ถูกช่างภาพหลอกอีกต่างหากว่า ข้างหน้ามีไอศกรีมแท่งของโปรด ผมดูนาฬิกาเป็นระยะ กะเวลาให้เข้าเส้นชัยก่อน cutoff ไว้ประมาณ 10 นาที ช่วงเวลาก่อน cutoff แบบนี้ เหลือนักกีฬาในเส้นทางวิ่งไม่กี่คน แต่ที่เหมือนกัน คือ ส่งเสียงทักทายให้กำลังใจกันเองตลอดทาง คนที่แข่งจบไปแล้วบางคนก็ตะโกนให้สู้ ๆ บรรยากาศแบบนี้คือเสน่ห์ของกีฬาจริง ๆ

อัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ย 142 ครั้ง/นาที peak สูงสุดขึ้นไป 154 ครั้ง/นาที การเต้นของหัวใจผมเกินครึ่งเป็น zone 4 คืออัตรา 144-152 ครั้ง/นาที แทบไม่มี zone 5 คือ มากกว่า 152 ครั้ง/นาทีเลย  

ในที่สุด ผมก็เข้าเส้นชัยจนได้ตอน 10:22 น. ก่อนเวลา cutoff 8 นาทีเท่านั้น

                 ขอบคุณภาพจาก Facebook: Amazing Race Festival & Triathlon

                ขอบคุณภาพจาก https://www.sportstats.asia
รวมเวลา 3:25:51 ชม.
ระยะ Olympic ครั้งนี้ เมื่อเทียบกับครั้งก่อน ๆ ใช้เวลานานขึ้นชัดเจน แต่ก็ค่อนข้างพอใจกับผลงานตัวเองสำหรับ ว่าย-ปั่น-วิ่ง--ว่าย-ปั่น-วิ่ง ครั้งแรก เพราะต้องนับว่าสนามนี้ เวลา cutoff ค่อนข้างโหดทีเดียว มีนักกีฬาแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นจากที่สมัครมาที่วิ่งถึงเส้นชัย ดีใจที่ผมเป็น 1 ใน 32 คนนั้น ถึงจะเป็นที่ 6 เป็นคนสุดท้ายของรุ่นอายุ 50+ ชาย ส่วนอีก 2 คน DNF และไม่มาแข่ง 6 คน  จุดที่ดีขึ้นคือ ปั่นจักรยานกับยานใหม่ จุดที่ต้องปรับปรุงแน่ ๆ คือ ว่ายน้ำวนซ้าย ที่ต้องหาวิธีเล็งทิศหรือหัดเงยหน้าให้ได้ทั้งสองข้าง

ขอปิดท้ายด้วยคำขอบคุณชาวพัทลุงที่จัดงานนี้ได้ดีจริง ๆ ความร่วมมือร่วมใจ การมีส่วนร่วมดีมาก ทำให้ผมได้สัมผัสเสน่ห์ของไตรกีฬา มีกำลังใจที่จะซ้อมต่อไป



2022-05-15

O+: โรโบแมน 2565: ระยอง - Roboman 2022: Rayong

 O+: ระยะ:ซุเปอร์โอลิมปิก - Super-Olympic distance

โรโบแมน 2565: - Roboman 2022
หาดพลา ระยอง - Phla Beach Rayong


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
ประชาสัมพันธ์การแข่งขันทาง Facebook [1] และเปิดให้สมัคร online ก่อนล่วงหน้าเกือบ 3 เดือน กำหนดวันแข่ง สถานที่ และข้อมูลการแข่งขันที่แจ้งก่อนล่วงหน้าละเอียดดีมาก แจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่และเส้นทางการแข่งขันก่อนแข่งจริงประมาณ 1 สัปดาห์
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยและภาคอังกฤษชัดเจนได้ยินทั่วถึงบริเวณที่จัดงานและเป็นกันเองดี แต่ควรมีแผนผังแสดงพื้นที่จัดงาน เช่น จุดลงทะเบียน ลานจอดรถ อาหาร สุขา สินค้า ติดตั้งไว้หลาย ๆ จุด โดยเฉพาะบริเวณทางเข้าออก ให้ผู้เข้าร่วมงานเห็นได้ชัดเจน 
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
สถานที่จอดรถมีหลายแห่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่จัดงาน พื้นที่กว้างขวางเพียงพอ แต่เจ้าหน้าที่จัดการไม่เพียงพอในช่วงก่อนงานที่รถเข้ามาจำนวนมาก ไม่มีบริการขนส่ง
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
ในวันลงทะเบียนมีการชี้แจงรายละเอียดเส้นทางการแข่งขัน จุดเสี่ยงและกฏกติกาต่าง ๆ ดีมากในภาคไทย แต่ภาคอังกฤษแปลไม่ทันและไม่ครบถ้วน ไม่มีเอกสารหรือถ่ายทอดทาง Facebook Live สำหรับผู้ไม่สามารถเดินทางมารับฟังในงาน
การลงทะเบียน การจัดการ
การจัดการลงทะเบียนตามมาตรการป้องกันโควิดเป็นระบบ รวดเร็วดีมาก การใช้พื้นที่จัดงานทำได้ดี บริการต่าง ๆ ไม่ต้องรอคิวนาน
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
เส้นทางมีแนวทุ่นชัดเจนและมีทีมดูแลความปลอดภัยดีมาก ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยโดยอนุญาตให้นักกีฬาใช้ buoy ได้ แต่ไม่เข้มงวดให้ผู้ใช้ buoy ต้องลงน้ำหลังสุดในกลุ่มตามที่ชี้แจงไว้ และการปล่อยตัวไม่ได้แยกเป็น wave ย่อย ทำให้นักกีฬาหนาแน่นพอสมควร
ความปลอดภัย-จักรยาน
เส้นทางปั่นถึงจะไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด แต่นับว่าควบคุมและปิดกั้นการจราจรได้ดี ถึงแม้ช่วงท้ายของการแข่งขันจะมีการจราจรหนาแน่นขึ้น และมีรถแทรกเข้ามาบ้าง นักกีฬาต้องใช้ความระมัดระวังเอง เส้นทางสะอาดเรียบร้อย มีป้ายแสดงระยะทาง จุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจน และมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก กำกับเส้นทางอย่างดีตลอดเส้นทาง 
ความปลอดภัย-วิ่ง
เส้นทางวิ่งไม่ได้ปิดการจราจรทั้งหมด แต่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมได้ปลอดภัยดี มีป้ายแสดงจุดเลี้ยว จุดกลับตัวชัดเจน แต่บางช่วงเป็นซอยขนาดเล็กในชุมชน การแข่งขันไปสร้างขยะและอาจรบกวนวิถีชีวิตปกติของชาวบ้านพอสมควร เส้นทางช่วงสะพานปลาพื้นผิวขรุขระมาก ต้องใช้ความระมัดระวังสูง
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่จุดเปลี่ยนอุปกรณ์ค่อนข้างแคบ การควบคุมการเข้าออกทั้งก่อน ระหว่างและหลังการแข่งขันทำได้ดี การให้ทยอยเข้าพื้นที่เป็นเวลานานทำให้นักกีฬาไม่แออัด 
การแพทย์
การเฝ้าระวัง การป้องกันโควิดบริเวณจัดงานทำได้ดี แต่การให้นักกีฬาจำนวนมากมายืนรวมกลุ่มรอที่จุดปล่อยตัวว่ายน้ำชนิดหายใจรดต้นคอกันโดยส่วนใหญ่ไม่ใส่หน้ากาก และไม่มีจุดทิ้งหน้ากากก่อนลงน้ำ ก็ทำให้ความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อกลุ่มมากขึ้น ถึงจะเป็นช่วงระบาดขาลงแล้วก็ตาม ส่วนการบริการทางการแพทย์มีการเฝ้าระวังดี ทั้งระหว่างเส้นทางและที่ส่วนกลาง อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของพี่มิงค์..นพ.ธวัชชัย เลิศหิรัญวงศ์ OSK83 ซึ่งเสียชีวิตหลังการว่ายน้ำด้วยครับ
อาหาร เครื่องดื่ม
จุดให้น้ำในเส้นทางจักรยานมีจุดเดียวแต่เพียงพอและบริการดี จุดให้น้ำในเส้นทางวิ่งมีสองจุดที่อยู่ตรงข้ามกันก่อนถึงสะพานปลาตรงชุมชนชาวประมงทำให้พื้นแฉะน้ำ ฟองน้ำสำหรับคลายร้อนมีไม่เพียงพอสำหรับนักกีฬา Super-Olympic ซึ่งมาถึงทีหลัง ไม่มีอาหารและผลไม้บริการ เครื่องดื่มมีไม่เพียงพอ แต่การบริการดีมาก อาหารบริเวณส่วนกลางที่จัดเป็นชุด ๆ ให้นักกีฬาหยิบเอง มีเพียงพอ ไม่แออัด จัดการเรื่องคิวและป้องกันโควิดได้ดีมาก

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Super-Olympic ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป


สถานการณ์โควิดทำให้การแข่งขันไตรกีฬาถูกงดไปเกือบ 2 ปี งานนี้นับเป็นงานแรก ๆ ที่จัดขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการป้องกันโรค หลายคนจึงตั้งตารออย่างใจจดใจจ่อ รวมทั้งผมด้วย ซึ่งถ้านับจาก [ไตรกีฬานาวี ระนอง] ที่ไปเป็นรายการสุดท้ายเมื่อปลายปี 2563 ก็ทิ้งสนามมาปีครึ่งพอดี  ผมตัดสินใจสมัครระยะ Super-Olympic เพราะคิดว่า ไหน ๆ ก็ผ่าน [IM70.3 Bangsaen] มาแล้ว ระยะที่เพิ่มจาก Olympic มาตรฐานอีกไม่มาก ก็น่าจะพอไหว และยังมีเวลาเตรียมตัวตั้ง 3 เดือน แต่สิ่งที่กังวลคือ เวลาตัดตัวที่กำหนดไว้ตอนแรก 5:20 ชม. นั้น มันเร็วไป โชคดีที่พอถึงวันแข่ง ลดระยะทางลง และขยายเวลาตัดตัวเป็น 6:30 ชม. ก็ทำให้กดดันน้อยลงมาก คงเหลือแต่เรื่องลมกับแดดชายทะเลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เท่านั้น

ช่วงจัดงานเป็นวันหยุดยาว ทำให้รถติดยาวบน motorway เพราะคอขวดที่ด่านบางปะกง อุบัติเหตุและการก่อสร้างหลายจุด จึงต้องใช้เวลาเดินทางนานขึ้นจาก 2 ชม. เป็น 3 ชม. กว่า ถึงที่พักที่สิรินพลารีสอร์ต[2]ก็ยังเข้าห้องพักไม่ได้ ต้องรอบ่ายสองอีก ผมจึงต้องฆ่าเวลาขับรถดูเส้นทางปั่น ทำให้รู้ว่า ช่วงแรกเป็นเนินซึมยาวจนถึงจุดกลับตัวใกล้ถนนสุขุมวิท และเส้นทางส่วนใหญ่เป็นทางราบ มี rolling และเนินไม่ชันนัก มีจุดหักโค้งแล้วลงขึ้นเนินที่หาดพยูนอยู่แห่งเดียว หลังจากเข้าที่พักแล้ว ผมทดลองเดินเลียบชายหาดจากที่พักไปที่จัดงานใหม่ตรงเทศบาลตำบลพลา ห่างไป 300 เมตรเท่านั้นเองใช้เวลาเดินประมาณ 15 นาที แต่ต้องไต่เนินทรายขึ้นลงและมีขยะสกปรก ไม่น่าจะปลอดภัยถ้าจะเดินไปตอนเช้ามืดวันแข่ง หลังฟัง race brief เสร็จ เดิมตั้งใจว่าจะเดินเล่นออกกำลังกับดูเส้นทางวิ่งเสียหน่อย ก็ต้องเปลี่ยนใจ เพราะรู้สึกเพลียมากเหมือนเมารถ น่าจะเป็นเพราะไม่ได้พักช่วงบ่ายหลังขับรถเครียดสุด ๆ บน motorway มา จึงไม่ได้ร่วมอาหารเย็นของที่จัดงาน แต่รีบกลับที่พัก หาของกินง่าย ๆ แล้วเข้านอนเร็วกว่าปกติ

ความรู้สึกไม่สบายทำให้นอนหลับไม่ค่อยสนิท แต่อาศัยชม.นอนนาน พอตี 4 ตื่นขึ้นมารู้สึกสบายตัวเหมือนปกติ จัดการกล้วยน้ำว้าที่ซื้อจากแผงข้างถนนไป 5 ลูก กินน้ำตุนไว้ แล้วขับรถออกไปที่จัดงาน

หลังเอาของไปเก็บที่ transition แล้วผมก็เดินออกมายืนรอที่จุดปล่อยตัวริมทะเล รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติแปลกไปจากทุกครั้ง แต่คิดไม่ออก พอเดินไปเข้าห้องน้ำถึงรู้ตัวว่า ดันใส่แว่นสายตาทำงานออกมาด้วย มิน่าถึงมองเห็นอะไรชัดไปหมด ไม่ต้องคลำทางเหมือนครั้งก่อน ๆ แล้วมันจะใส่ลงน้ำได้ยังไง ต้องวิ่งย้อนกลับไปเก็บแว่นที่ transition ตอนที่เขาประกาศปิดไปแล้ว

                ขอบคุณภาพจาก Facebook: Roboman Triathlon
                ขอบคุณภาพจาก Photo.Thai.Run
ว่ายน้ำ 
ระยะทาง 1.8 กม.
เวลา 44:12 นาที
Pace 2:27 นาที/100 ม.
เส้นทางว่ายน้ำเป็นรูปสามเหลี่ยม ระยะ Super-Olympic ต้องว่ายวนขวา 2 รอบ การปล่อยตัวไม่เป็น wave แต่แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่แยกด้วยสีหมวก ซึ่งผู้จัดบอกว่า นักกีฬาที่ต้องทำความเร็ว ให้ไปยืนแถวหน้าเอง โชคดีผมได้หมวกสีแดงปล่อยตัวเป็นกลุ่มแรก ยืนอยู่กลาง ๆ กลุ่มซ้ายสุดตามถนัด พอปล่อยตัวเดินลุยน้ำได้ไกลพอสมควรเพราะน้ำลง ก็ฉีกออกซ้ายห่างจากกลุ่มเพื่อหลบปลาตีน

อยู่ห่างจากกลุ่มใหญ่ ว่ายฟรีสไตล์ได้สบาย แต่ช่วงแรกกระแสน้ำพัดออกจากแนวทุ่น ต้องว่ายตัดกระแสน้ำเข้าขวา อาศัยจังหวะเงยหน้าหายใจด้านขวารักษาระยะจากแนวทุ่นไข่ปลาเอาไม่ยาก ห่างฝั่งออกมา ถูกคลื่นเล่นงานพอสมควร จนกระทั่งถึงทุ่นใหญ่ตรงมุมสามเหลี่ยมแรก ที่ต้องเปลี่ยนเป็นว่ายขนานชายฝั่งและต้องทวนกระแสน้ำด้วย ช่วงนี้นักกีฬาบาบาง เลยว่ายได้ดี ไม่นานก็ถึงทุ่นใหญ่ตรงมุมสามเหลี่ยมที่สอง ตอนว่ายกลับเข้าฝั่ง กระแสน้ำพัดเข้าหาแนวทุ่นไข่ปลา ขนาดพยายามว่ายฉีกออกแล้ว ก็ยังถูกกระแสน้ำพัดไปชนแนวทุ่น ไปตัดหน้านักกีฬาข้างหลังหลายครั้ง 

โล่งใจที่ถึงจุดกลับตัวขึ้นรอบสองก่อนเวลาปล่อยตัวของระยะ Super-Sprint ไม่ต้องผจญภัยดงปลาตีนของนักกีฬาอีกกลุ่ม รอบสองนี้ว่ายได้เรื่อย ๆ ได้ว่ายฟรีสไตล์มากกว่าทุกครั้ง เปลี่ยนเป็นท่ากบเฉพาะตอนเล็งทิศและอ้อมทุ่นใหญ่เท่านั้น 

ตอนว่ายเข้าฝั่งรอบสอง ผมลืมไปว่า จุดขึ้นจากน้ำกับจุดปล่อยตัวงานนี้แยกกัน ผมว่ายผิดทิศตรงไปที่จุดปล่อยตัว สักพักถึงเห็นนักกีฬาคนอื่นว่ายออกซ้ายไปขึ้นฝั่งอีกจุด ต้องว่ายตัดกระแสน้ำกลับไป เสียทั้งแรงเสียทั้งเวลา 

Transition 1
เวลา 06:41 นาที
พอถึงน้ำตื้น เปลี่ยนมาเดินลุยน้ำขึ้นฝั่ง คราวนี้ผมไม่ลืม ยังไม่ถอดแว่นว่ายน้ำสายตาสั้นออกก่อน เพราะจะต้องปีนบันไดชันขึ้นจากน้ำช่วงสุดท้าย จึงปรับสายตาได้ดีและไม่มึนหัว ก่อนเดินเร็ว ๆ เข้า transition ซึ่งผมใช้เวลานานพอสมควร พอไม่ได้แข่งนาน ลืมลำดับไปหมดและตกหล่นสิ่งสำคัญบางอย่างไป ก่อนกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาทั้งขวด แล้วลากจักรยานออกไป 

                ขอบคุณภาพจาก Facebook: Roboman Triathlon
                ขอบคุณภาพจาก Photo.Thai.Run
จักรยาน
ระยะทาง 56.5 กม.
เวลา 2:08:00 ชม.
Pace 26.50 กม./ชม.
เส้นทางจักรยานงานนี้ไม่มีเนินโหด ๆ ให้ต้องกังวล แต่ช่วงแรกแค่เพิ่งออกจาก transition ก็ต้องปั่นไต่เนินซึมยาวเกือบ 5 กม. ก่อนจะถึงจุดกลับตัวแรกใกล้ถนนสุขุมวิท ผมปั่นเสือหมอบ Mosso [3] คันเดิม ช่วงนี้ต้องปั่นไปทำใจไป เพราะถูกคนอื่นแซงตลอด พอกลับตัวเป็นขาลงเนินก็ทำเวลาได้บ้าง ช่วงนี้เป็นทางตรง แทบไม่มีรถอื่นเลย โดยรวมถือว่าปั่นสบาย ใช้แรงน่องอย่างเดียว

พอเลี้ยวซ้ายเข้าเขตชุมชน เส้นทางมีเลี้ยวไปมาและขึ้นลงเนินเป็นช่วง ๆ ผมปั่นไม่ทันกลุ่ม Super-Sprint เลยเหลือเพื่อนไม่มาก ถึงจะยังควบคุมการจราจร แต่ก็เริ่มปล่อยให้รถอื่นเข้าแทรกเป็นระยะ แถมมีรถฝ่าเจ้าหน้าที่ควบคุมอีก นักปั่นต้องเป็นฝ่ายระวังและชะลอให้รถจำพวกนี้แทน  ถึงเนินตรงหาดพยูนที่ดูเส้นทางไว้ ปั่นไม่ยาก อาศัยแรงส่งตอนลงเนินแล้วปั่นขึ้นโดยไม่ต้องเปลี่ยนเกียร์ โดยรวมนับว่าถนนสะอาดสวยงาม ปั่นต้องอาศัยทักษะบ้าง แต่สนุกดี 

ถึงจุดกลับตัวที่สองและเป็นจุดให้น้ำเพียงจุดเดียวก่อนถึงมาบตาพุด ยังรู้สึกสบาย จึงไม่แวะกินน้ำ ปั่นต่อกลับเส้นทางเดิมจนถึงจุดกลับตัวที่สาม ครบรอบแรกยังไม่ถึงแปดโมง ก่อนเวลาตัดตัวเป็นชม. ไม่กดดันแล้ว เพราะคงไม่ DNF แน่ ถ้าไม่มีเหตุคาดไม่ถึง

แต่พอขึ้นรอบสอง ก็เริ่มรู้สึกถึงความแตกต่าง เนินซึมยาวที่รอบแรกผ่านสบาย ต้องพยายามมากขึ้น ออกแรงมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น เริ่มรับรู้อะไรที่ขัดใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแดดที่เพิ่งรู้สึกร้อน ทั้ง ๆ ที่มันคงร้อนมาตั้งแต่ต้น เหงื่อที่โชกผ้าโพกหัวไหลหยดเข้าตา แล้วก็แว่นสายตาที่ตกลงถึงปลายจมูก เพราะลืมรัด[สายรัดแว่น]ให้แน่นตอนอยู่ใน transition ทำให้ต้องเงยคอมองทางจนเมื่อย ทุกอย่างดูเหมือนจะประดังเข้ามา แล้วหนักที่สุดคือ เฮ้ย.. ตะคริวกินสองน่องเลย ผมไม่เคยเป็นตะคริวตอนปั่นแบบนี้มาก่อน งานนี้เกร็งมากไป.. นานไป

ต้องเปลี่ยนเป็นปั่นแบบท่องเที่ยวกินลมชมวิวแทน ประคองตัวจนผ่านจุดให้น้ำที่มาบตาพุด ได้หยุดพักกินน้ำตามแผนที่วางไว้ ไม่ได้ปั่นไปกินไปแบบคนอื่น พอได้น้ำ รู้สึกสดชื่นขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น แล้วปั่นครบรอบสองกลับ transition แบบไม่เกิดอะไรมากไปกว่านั้น

heart rate ผมอยู่ใน zone 3 เป็นส่วนใหญ่ 69% มีขึ้นไป zone 4 26% มา peak ที่สุดที่ 175 ตอนปั่นรอบสองหลังอุณหภูมิขึ้นไป 35C ตอนถึงจุดสูงสุดของเนินซึม 

Transition 2
เวลา 03:14 นาที
ตอนลงจากจักรยานจูงเข้า transition รู้สึกขาปัดเล็กน้อย จุดอ่อนเป็นเรื่องกำลังขา แต่ไม่เหนื่อย ใน transition ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาอีกขวดจนหมด แล้วพกขนม angel ball [4] ใส่กระเป๋าไป 3 ลูกไว้กินกลางทาง 

               ขอบคุณภาพจาก Facebook: Roboman Triathlon
                ขอบคุณภาพจาก Photo.Thai.Run
วิ่ง
ระยะทาง 14.8 กม.
เวลา 1:54:57 ชม.
Pace 7.46 นาที/กม.
งานนี้ ผมชอบมากที่ผู้จัดจงใจให้เส้นทางวิ่งผ่านชุมชนริมหาดพลา ผ่านตลาด ร้านค้า ที่พักอาศัย ได้เห็นได้กลิ่นของกินยั่วน้ำลายตลอดทาง ผ่านวัดที่กำลังมีงานบุญวิสาขบูชาพอดี ผ่านหมู่บ้านชาวประมงที่กำลังง่วนกับของทะเลสด ๆ และที่สุดยอด คือ สะพานปลายื่นไปในทะเล บรรยากาศดีสุด ๆ แต่พื้นขรุขระมากโดยต้องวิ่งทั้งหมด 4 รอบ

รอบแรก แค่ออกจาก transition ก็รู้สึกไม่ค่อยอยากวิ่งแล้ว อากาศร้อนจัด ที่ซ้อม brick แก้จุดอ่อนช่วงรอยต่อปั่น-วิ่งมาแล้ว ถึงตอนนี้ขอเดินก่อน ต่างจากงานก่อน ๆ ที่ช่วงแรกก็ออกวิ่งเลย ปลอบใจตัวเองว่า เดินพักสักหน่อยเดี๋ยวค่อยวิ่ง แต่พอออกวิ่งก็รู้สึกโหย ต้องกลับมาเดินต่อ ช่วงที่ผ่านร้านของกิน ควัก angel ball ลูกแรกออกมากินเร็วกว่าที่ตั้งใจไว้ จนมาถึงจุดให้น้ำซึ่งมีเพียงสองจุด แต่อยู่ตรงข้ามกันก่อนถึงสะพานปลา หงุดหงิดเหมือนกันที่ฟองน้ำหมดแล้ว ...ก็มันร้อน ได้แต่น้ำเกลือแร่ขวดมาดื่มดับกระหาย ก่อนจะวิ่งออกไปสะพานปลา พื้นซีเมนต์ขรุขระมาก ถ้าวิ่งก็เสี่ยงเท้าพลิก ก็กลับมาเดินอีก โดยรวมแล้วรอบแรกเดินมากกว่าวิ่ง

รอบสองและสาม วิ่งได้มากขึ้น ถึงจุดให้น้ำ ใช้วิธีขอน้ำเปล่าเย็น ๆ มาขวดนึง เทราดหัวราดตัวดับร้อนครึ่งขวด ที่เหลือเดินกินไปช้า ๆ บนสะพานปลา เพราะยังไงก็วิ่งไม่ได้อยู่แล้ว ถือเป็นช่วงพักชมวิวไปในตัว พอได้น้ำดับร้อนแบบนี้ ค่อยสดชื่นขึ้น สนใจวิถีชีวิต ทักทายชาวบ้านข้างทางมากขึ้น แต่ไม่วายได้ยินเสียงบ่นของชาวบ้านเรื่องขยะเกลื่อนทางหน้าบ้านเขา ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เดี๋ยวคงมีทีมงานของผู้จัดไปตามเก็บให้ แต่ถ้าจัดการดีกว่านี้ มีถังทิ้งขยะมากกว่านี้ ก็จะได้ไม่เสียความรู้สึกและไม่เหนื่อยแรงทีมงานด้วย รอบสองและสามนี้เดินพอ ๆ กับวิ่ง 

รอบสี่ซึ่งเป็นรอบสุดท้าย รู้สึกมีแรงวิ่งมากขึ้น บนสะพานปลาช่วงที่พื้นราบก็ยังขอวิ่ง เพราะเหลือบดูนาฬิกาแล้ว ยังพอมีสิทธิลุ้น sub5 ใช้เวลารวมน้อยกว่า 5 ชม. ได้ รอบนี้วิ่งได้เกือบตลอด

โดยรวม heart rate อยู่ใน zone 2, 3 และ 4 เท่ากันเลย โดยไม่มี zone 5  peak สูงสุดขึ้นไป 164 

                ขอบคุณภาพจาก Photo.Thai.Run

รวมเวลา 4:56:58 ชม.
หลังจากหยุดแข่งมาปีครึ่ง งานนี้นับเป็นการเคาะสนิมคืนสนามครั้งแรก ระยะ Super-Olympic นี้ท้าทายพอสมควร เพราะระยะทางอยู่ระหว่างระยะ Olympic กับ half IM  ว่ายน้ำทำได้ดีตามเป้า ว่ายฟรีสไตล์ได้มากกว่าทุกครั้ง ช่วงปั่นจักรยานกลายเป็นปัญหา เจอตะคริวกินบนอานเป็นครั้งแรก แถมหมดแรงตอนรอบสองอีก สาเหตุน่าจะเป็นอากาศร้อน แล้วขาหมดแรงเร็วกว่าที่คิด  ส่วนวิ่งถือว่าเสมอตัว รอบแรกทำได้ไม่ดีเลย มาตีตื้นรอบหลัง โดยรวมก็ได้ตามเป้า คือ sub5 แต่ถ้านับระยะปั่นและวิ่งที่ได้ส่วนลดจากผู้จัด ก็อาจจะตกเป้าไปเล็กน้อย