2019-04-28

O: สิชลไตรกีฬา 2562: สิชล - Sichon Triathlon 2019: Sichon

O: ระยะโอลิมปิก - Olympic distance
     สิชลไตรกีฬา 2562 - Sichon Triathlon 2019
     สิชล - Sichon


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
เริ่มประชาสัมพันธ์ทาง Facebook ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2561 พอถึงกลางเดือนธันวาคมเริ่มรับสมัคร ก็มีรายละเอียดเส้นทาง race route profile อย่างละเอียดออกมาแล้ว นั่นมันก่อนงานตั้ง 4 เดือน แล้วภาพโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็สวยงาม มืออาชีพมาก
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยในงานชัดเจน ครื้นเครงเป็นกันเองดี แต่ภาคอังกฤษไม่ครบถ้วน
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
ที่จอดรถเพียงพอและไม่ไกล แต่บางส่วนที่มาจอดในเขาพลายดำรีสอร์ทจะเข้าออกจากงานลำบาก เนื่องจากต้องผ่านด้านหน้า transition
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
ชี้แจงรายละเอียดเส้นทางการแข่งขันและกฏกติกาต่าง ๆ ภาคไทยชัดเจนดีมาก มีประโยชน์ที่ได้มาฟังก่อน แต่ภาคอังกฤษไม่ครบถ้วน เหมือนไม่ได้มาด้วยกัน
การลงทะเบียน การจัดการ
การลงทะเบียน การใช้พื้นที่จัดงานทำได้ดี ช่างภาพมืออาชีพเยอะมาก ชาวบ้านในพื้นที่และอาสาสมัครที่มาทำงานก็น่ารัก น่าภาคภูมิใจแทนคนสิชลและนครศรีธรรมราชในความร่วมมือร่วมใจกันเพื่องานไตรกีฬาครั้งแรกของจังหวัด
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
เส้นทางว่ายน้ำปรับเปลี่ยนจากเป็นเส้นตรงไปกลับ เป็นว่ายตามเข็มนาฬิการูปสามเหลี่ยมรอบแนวทุ่นชั้นเดียว การปล่อยตัวเป็น wave ตามกลุ่มอายุ และมีระบบดูแลความปลอดภัยดี
ความปลอดภัย-จักรยาน
ใช้เส้นทางบริเวณเขาพลายดำที่เป็นหน้าผาริมทะเลสวยงามมาก ส่วนเส้นทางนอกเมืองที่ผ่านชุมชนหลายแห่ง ก็สามารถควบคุมการจราจร มีป้ายแสดงระยะทาง จุดเลี้ยว จุดเสี่ยง แผงกั้นครบถ้วนชัดเจนดีมาก ผมสังเกตว่า มีทรายที่ไหลตามน้ำฝนมากองอยู่ข้างทางก่อนวันงาน พอถึงวันงานก็จัดการล้างออกจนถนนโล่ง
ความปลอดภัย-วิ่ง
เส้นทางวิ่งโหดมาก มีแต่เนินและเนินกว่า แต่สวยงามน่าประทับใจมาก มีป้ายแสดงระยะทาง จุดเลี้ยวชัดเจนดี ไม่ได้ปิดการจราจร 100% แต่มีชาวบ้านขับรถผ่านน้อยมาก ต้องระวังสุนัขของชาวบ้านอยู่บ้าง และคำเตือน คือ ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุที่เข่าเสื่อม
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่เพียงพอ การควบคุมการเข้าออกทำได้ดี แต่แสงไฟมืดไปหน่อย และเจ้าหน้าที่ไม่ควบคุมเส้นทางการนำจักรยานเข้าออกให้นักกีฬาบางคนที่ลักไก่ตัดทางลัด ไม่อ้อมตามที่กำหนดไว้
การแพทย์
การเฝ้าระวัง การบริการทางการแพทย์ทำได้ดีมาก เป็นกันเองและรวดเร็ว ทั้งที่ส่วนกลางและตลอดเส้นทางการแข่งขัน
อาหาร เครื่องดื่ม
อาหารและเครื่องดื่มตลอดเส้นทางการแข่งขันมีเพียงพอและบริการดี งานเลี้ยงก่อนการแข่งขันพร้อมกับคอนเสิร์ตจัดได้ดีมาก เป็นเสน่ห์ของงานอย่างหนึ่งที่น่าประทับใจ

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Olympic ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป


ชื่อสิชลและเขาพลายดำ ทำให้ผมตัดสินใจจองที่พักเขาพลายดำรีสอร์ท [1] ทันที และสมัครงานนี้เป็นคนกลุ่มแรก ๆ โดยไม่ต้องคิด ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเส้นทางต้องเนินและเนินแน่ แต่เดี๋ยวนี้ ไม่ค่อยกลัวเนินเท่าไร ไม่ใช่เพราะฝีเท้าปั่นวิ่งดีขึ้น แต่เพราะทำใจได้ว่า ไม่ไหวก็เดินหรือเข็นเอา ไม่เห็นจะยาก

การได้ที่พักบริเวณจัดงาน และเดินทางมาก่อนล่วงหน้า 2 คืน ทำให้รู้สึกสบายเหมือนมาเที่ยว เช้าวันลงทะเบียน มีโอกาสได้เดินดูเส้นทางวิ่งไปได้ประมาณครึ่งทาง เห็นเนินแล้วอยากรู้จัก race director ขึ้นมาเลย แถมถูกสุนัขชาวบ้านคุกคามเพราะเราแปลกหน้าบุกรุกพื้นที่ของพวกมันด้วย รู้สึกกังวลแทนบรรดาพวกโปรแถวหน้าที่ต้องเป็นหน่วยกล้าตายนำหน้าเหมือนกัน แล้วได้ขับรถแวะเที่ยวข้างทางกับเข้าเมืองสิชล ผ่านเส้นทางจักรยานไปในตัว อันนี้ก็โหดอีก ส่วนวันแข่ง ตื่นตีสี่ครึ่งตามปกติ ตื่นนอนมาก็กินกล้วยหอมที่อุตส่าห์ขับรถเข้าไปซื้อถึงในตัวเมืองสิชล ตามด้วยน้ำสองแก้ว แล้วถ่ายอุจจาระโล่ง ได้ warm up ในห้องพร้อมกับฟังเสียงประกาศที่ได้ยินจากในงาน ก่อนจะเดินขนของออกไปเก็บที่ transition

ขอบคุณภาพจาก Facebook: Sichon Triathlon 2019
ขอบคุณภาพจาก Facebook: Sichon Triathlon 2019
ว่ายน้ำ 
ระยะทาง 1.5 กม.
เวลา 35:06 นาที
Pace 2:20 นาที/100 ม.
ตอนเช้าวันแข่งขัน ทะเลค่อนข้างเรียบ มีคลื่นไม่มาก เส้นทางว่ายน้ำตามเข็มนาฬิกาเป็นรูปสามเหลี่ยม โดยต้องวิ่งขึ้นมาอ้อมจุด check point บนหาดทรายเมื่อครบรอบแรก ก่อนจะลงไปว่ายรอบที่สอง  การปล่อยตัวเป็น wave ตามกลุ่มอายุ ทำให้นักกีฬาไม่แออัด ผมจึงว่ายอย่างสบาย ๆ ทำเวลาได้ดี แต่มีปัญหากับ GPS ของนาฬิกา มันจับสัญญาณไม่ได้หรือยังไงไม่รู้ ส่งเสียงเตือนตอนกำลังว่ายอยู่หลายครั้ง พอมาดูรูปทีหลัง ก็เห็นว่า มันจับเส้นทางว่ายน้ำของเรามั่วไปหมดเลย

Transition 1
เวลา 06:23 นาที
transition อยู่ลึกจากชายหาดเข้ามาพอสมควร ความที่ได้ bib เบอร์แรก ๆ จึงอยู่ตรงทางเข้าติดกับที่กั้น ซึ่งมีกองเชียร์ของนักกีฬายืนอออยู่เต็ม รู้สึกแปลก ๆ เวลาต้องแต่งตัวต่อหน้าคนอื่น เลยตั้งใจบรรจงเช็ดหน้า สวมผ้า buff หมวกจักรยาน แล้วลงไปนั่งกับพื้นบรรจงเช็ดเท้าอีกรอบ ใส่ถุงเท้ารองเท้า ใส่ถุงมือแล้วคว้าน้ำเกลือแร่มาบีบใส่ปาก ก่อนลากจักรยานเดินอ้อมวนเข้าไปด้านในก่อนออกตามกำหนด เพื่อไม่ให้ได้เปรียบจากการที่อยู่ใกล้ทางออก

ขอบคุณภาพจาก Facebook: Sichon Triathlon 2019
ขอบคุณภาพจาก Facebook: Sichon Triathlon 2019
จักรยาน
ระยะทาง 40 กม.
เวลา 1:33:37 ชม.
Pace 25.60 กม./ชม.
เส้นทางจักรยานงานนี้โหดใช้ได้ พอออกจาก transition เลี้ยวซ้ายขึ้นถนนแล้ว ก็ไต่ขึ้นเนินชันและสูงที่สุดเลย เป็นถนนผ่านหน้าผาเลียบทะเลวิวสวย แล้วขึ้น ๆ ลง ๆ เนินเป็นลอน ก่อนจะลงสู่พื้นราบ คราวนี้ได้ปั่นกันยาวตามทางหลวงหมายเลข 4232 เกือบจะถึงทางแยกเข้าเมืองสิชล วกกลับทางเดิม เลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3009 แล้ววกกลับเข้าเส้นทางเดิม มาขึ้นเนินสูงอีกครั้ง  ผมเองปั่นเสือหมอบ Mosso [2] พอถึงเนินแรก ก็ไม่รอช้า ลงมาเดินเข็นจักรยานทันทีอย่างตั้งอกตั้งใจ มั่นใจว่า สำหรับตัวเองแล้วเดินเข็นเร็วกว่าฝืนปั่นต่อแน่ ๆ หลังจากพ้นเนินแรกได้ ก็ปั่นยาวตลอด แต่ขากลับเกิดปัญหาโซ่หลุดระหว่างแข่งเป็นครั้งแรกเพราะเปลี่ยนเกียร์เร็วไป ต้องลงมาคล้องกลับเข้าไปใหม่ อาสาสมัครที่ยืนประจำตรงจุดนั้นวิ่งเข้ามาถามทันทีว่า มีปัญหาอะไรมั้ย แต่ผมคล้องโซ่เสร็จเสียก่อน จึงขอบคุณน้องเขาไป ก่อนจะปั่นต่อผ่านเนินสูงอีกครั้ง ขากลับไม่ต้องลงเข็น แต่ต้องแตะเบรคลงเนินทิ้งโค้งช้า ๆ ไม่กล้าปล่อยไหล กลับมาเข้า transition แบบเมื่อยน่องเอาเรื่อง

Transition 2
เวลา 01:49 นาที
ตอนเดินจูงจักรยานเข้า transition เมื่อยน่องกว่าทุกครั้ง ต้องเดินปรับตัวอยู่สักพัก ไม่กล้าวิ่ง ใน transition ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมาจนหมดขวด เพราะคิดว่าต้องใช้เวลากับเส้นทางวิ่งข้างหน้านานกว่าทุกงานแน่

ขอบคุณภาพจาก Facebook: Sichon Triathlon 2019
ขอบคุณภาพจาก Facebook: Sichon Triathlon 2019
วิ่ง
ระยะทาง 10 กม.
เวลา 1:37:41 ชม.
Pace 9.46 นาที/กม.
เส้นทางจักรยานงานนี้ว่าโหดแล้ว เส้นทางวิ่งโหดกว่าอีก เรียกได้ว่า เดินไปคิดถึงหน้า race director ตอน brief ไปยิ้มไปเลย น้องจัดเส้นทางได้ประทับใจมาก คือ พอออกจาก transition เลี้ยวขวาขึ้นถนนแล้ว ก็ไต่เนินกันเลย แบบไต่ขึ้นเรื่อย ๆ มีขาลงให้ตายใจเล็กน้อย แล้วก็ไต่ขึ้นเนินที่สองต่อ ก่อนจะขาลงรวดเดียวไปเจอทางลูกรังให้ได้สัมผัสเส้นทาง trail นิดนึง แล้ววกกลับมาทางเดิม วิวสวยมากครับ โดยเฉพาะตอนอยู่บนยอดเนิน มันมองเห็นทิวทัศน์ตรงหน้าสุดยอดจริง ๆ  ผมเองเริ่มต้นวิ่งนับจาก transition ได้ไม่ถึงครึ่ง กม. ก็เปลี่ยนเป็นเดินแล้ว เดินไปเรื่อย ๆ เพราะขาขึ้น ก็ไม่มีแรงไต่ ส่วนขาลง ผมก็ไม่ยอมเอาเข่าไปเสี่ยงแน่ มันน่ากลัวกว่าขาขึ้นอีก จะวิ่งบ้างก็ตอนผ่านหน้าตากล้องเท่านั้น ซึ่งเป็นพฤติกรรมหมู่ของนักกีฬา ส่วน heart rate นั้น ก็อยู่ zone 3 ตลอด ตอนเดินขาลงเนินยาวมันสบายจนลงต่ำมาถึง 100  แล้วมา peak ที่ 159 ตอนกัดฟันวิ่งช่วงกม. สุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย


รวมเวลา 3:54:38 ชม.
งานนี้ทำเวลานานที่สุดตั้งแต่แข่งระยะ Olympic มา คือ เกือบ 4 ชม. ซึ่งไม่ได้เกินคาดอะไร ว่ายน้ำทำได้ดี จักรยานก็ถือว่าใช้ได้ตรงที่ขากลับไม่ต้องลงเข็น ส่วนเรื่องวิ่งนั้น ทำใจมาเดินอยู่แล้ว และต้องถือว่าเป็นเส้นทางวิ่งที่ประทับใจที่สุดเลย ทั้งทิวทัศน์รอบตัว นักกีฬาคนอื่น ตากล้องและอาสาสมัครตามจุดให้น้ำกับปฐมพยาบาลเป็นกันเอง เป็นกำลังใจที่ดีและน่ารักมาก ๆ ถึงผมจะคิดว่า คงไม่กลับไปสนามนี้อีก เพราะห่วงเรื่องเข่าพัง แต่ถ้ายังหนุ่ม ๆ ละก็ กลับไปแน่ 

2019-04-21

S: สงขลาไตรกีฬา ครั้งที่ 3 2562: สงขลา - 3rd Songkhla Triathlon 2019: Songkhla

S: ระยะสั้น - Sprint distance
     สงขลาไตรกีฬา ครั้งที่ 3 2562 - 3rd Songkhla Triathlon 2019
     สงขลา - Songkhla


ไม่มีข้อมูล         ไม่ดี ควรปรับปรุง          ดี พอใจ          ดีมาก ประทับใจ

การประชาสัมพันธ์ก่อนงาน
เริ่มประชาสัมพันธ์ทาง Facebook ตั้งแต่พฤศจิกายน 2561 แต่แจ้งกำหนดวันแข่งต้นเดือนมกราคม 2562 ช้ากว่างานอื่นที่จัดใกล้เคียงกัน แจ้งรายละเอียดเส้นทางการแข่งขันก่อนล่วงหน้า 1 เดือน ผู้ดูแล Facebook ตอบคำถาม inbox รวดเร็วและตั้งใจมาก
การประชาสัมพันธ์ในงาน
เสียงประชาสัมพันธ์ภาคไทยในงานชัดเจนดี แต่ภาคอังกฤษไม่ครบถ้วน
ที่จอดรถและบริการขนส่ง
ที่จอดรถบริเวณงานไม่เพียงพอ แต่สามารถจอดข้างถนนตรงชายหาดและถนนใกล้เคียงได้
ข้อมูล กติกาการแข่งขัน
ชี้แจงรายละเอียดเส้นทางการแข่งขันและกฏกติกาต่าง ๆ ภาคไทยดีกว่าครั้งก่อนมาก แต่ภาคอังกฤษไม่ครบถ้วน
การลงทะเบียน การจัดการ
การลงทะเบียน การใช้พื้นที่จัดงานทำได้ดี ไม่มีปัญหาเรื่องเสื้อเหมือนปีก่อน
ความปลอดภัย-ว่ายน้ำ
เส้นทางว่ายน้ำตามเข็มนาฬิกาเป็นรูปสามเหลี่ยม ดูแลความปลอดภัยดี
ความปลอดภัย-จักรยาน
การปิดถนนหรือควบคุมการจราจรทำได้ดีกว่าปีก่อนมาก แต่บางส่วนซ้อนกับเส้นทางวิ่ง
ความปลอดภัย-วิ่ง
ปีนี้ปรับเปลี่ยนมาวิ่งบนถนนริมหาดชลาทัศน์แทน และแยกเส้นทางวิ่งระยะ Sprint กับ Fun Run ออกจากกัน แต่เส้นทางบางส่วนซ้อนกับเส้นทางจักรยาน ยังมีความเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุ
บริเวณเปลี่ยนอุปกรณ์
พื้นที่เพียงพอ การควบคุมการเข้าออกทำได้ดี ไม่ต้องเบียดรอคิว
การแพทย์
ไม่มีข้อมูล
อาหาร เครื่องดื่ม
อาหารและเครื่องดื่มตลอดเส้นทางการแข่งขันและส่วนกลางมีเพียงพอและบริการดี

* ความเห็นนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเองเท่านั้น และได้จากการแข่งขันระยะ Sprint ไม่รวมการแข่งขันระยะอื่น ซึ่งบริบทต่างไป


ผมลงงานนี้เพื่อแก้มือให้ทั้งตัวเองและผู้จัด สำหรับตัวเองก็เพราะว่าปีก่อนลง สงขลาไตรกีฬา ครั้งที่ 2 เป็นครั้งแรกในชีวิต แล้วไม่ได้ว่ายน้ำ แถมเข้าเส้นชัยเกือบจะคนสุดท้าย งานนี้จึงเหมือนครบรอบ 1 ปีที่หัดไตรกีฬา ตั้งใจว่าจะมาเปรียบเทียบผลงานของตัวเองว่าเป็นอย่างไร ส่วนของผู้จัดก็เพราะปีก่อนจัดได้แย่มาก ผมเองให้ความเห็นผ่านทาง Facebook ไปหลายเรื่อง เลยอยากมาพิสูจน์ว่าเขาปรับปรุงอะไรให้ดีขึ้นบ้างหรือเปล่า ซึ่งก็พบว่า ผู้จัดรับฟังปัญหาที่นักกีฬาปีก่อนบ่นมาแล้วแก้ปัญหาในปีนี้ทุกเรื่อง จึงจัดออกมาได้ดีมาก จนน่าชื่นชม

คืนก่อนแข่ง ผมลงทุนเปิดห้องที่บีพีสมิหลาบีช [1] ทั้ง ๆ ที่ความจริงขับรถมาจากบ้านก็ได้ แต่ไม่อยากรีบเร่งตอนเช้า หลับสบาย ตื่นตีสี่ครึ่ง ลุกมากินกล้วยกับน้ำสองแก้วตามเดิม แล้วถ่ายอุจจาระสบาย ๆ นั่งสมาธิ แล้วยังมีเวลา warm up ในห้องที่โรงแรม ก่อนเดินข้ามถนนมาบริเวณจัดงาน

ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/Songkhlatriathlon
ขอบคุณภาพจาก https://web.facebook.com/Songkhlatriathlon
ว่ายน้ำ 
ระยะทาง 0.75 กม.
เวลา 21:28 นาที
Pace 2:51 นาที/100 ม.
ช่วงเช้าก่อนแข่งขัน ต้องไปยืนรอลุ้นตรงชายหาดด้านหลังวงเวียนคนอ่านหนังสือว่า วันนี้คลื่นลมจะแรงหรือเปล่า ปรากฏว่า ค่อนข้างสงบ ได้ว่ายน้ำแน่นอนปีนี้ ตอนปล่อยตัวลงน้ำ พระอาทิตย์กำลังขึ้นพอดี ความรู้สึกผมเหมือนมาว่ายน้ำกับเพื่อนมากกว่าแข่งขัน เลยว่ายแบบสบาย ๆ เป็นการว่ายน้ำทะเลที่รู้สึกดีที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

Transition 1
เวลา 03:52 นาที
ขึ้นจากน้ำ เพิ่งมารู้ตัวว่ากดนาฬิกาจับเวลาผิด ตอนก่อนจะลงน้ำ จากชายหาด ต้องข้ามถนนมาเข้า transition งานนี้มีระบบฝอยน้ำตรงทางเดินให้ล้างตัว ดีกว่าปีก่อนชัด ๆ ที่ให้มายืนแย่งกันตักน้ำจากถังเอง ใน transition ผมทำเวลาเปลี่ยนชุดได้ดี ไม่ต้องกินน้ำ แล้วออกไปปั่นจักรยานต่อเลย

ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/1000shot100pix
จักรยาน
ระยะทาง 20 กม.
เวลา 39:41 นาที
Pace 30.24 กม./ชม.
เส้นทางจักรยานราบเรียบไม่มีเนิน เป็นถนนริมหาดชลาทัศน์ค่อนข้างตรงตลอดสาย มีเลี้ยวมาเข้าถนนหน้าหาดสมิหลานิดหนึ่ง แล้วก็วกกลับมาปั่น 2 รอบ  ปีนี้การควบคุมการจราจรดีกว่าปีที่แล้วมาก แต่ต้องระวังตรงช่วงที่มีนักกีฬาวิ่งอยู่บนถนนริมหาดอยู่บ้าง  ผมเองปั่นเสือหมอบ Mosso [2]โดยรวมนับว่าปั่นสบาย ๆ ด้วย pace เร็วที่สุดเท่าที่เคยปั่นระยะนี้มา

Transition 2
เวลา 01:12 นาที
ใน transiton ผมกินน้ำเกลือแร่ที่เตรียมมานิดเดียว เพราะยังไม่รู้สึกทั้งเหนื่อยและหิว พร้อมแล้วก็ออกไปวิ่งได้เลย

ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/1000shot100pix
วิ่ง
ระยะทาง 5 กม.
เวลา 30:56 นาที
Pace 6.11 นาที/กม.
เส้นทางวิ่งงานนี้ คือถนนเลียบหาดชลาทัศน์แล้ววกกลับมาเข้าเส้นชัย ผมวิ่งเรื่อย ๆ แต่รวดเดียว ไม่แวะจุดให้น้ำเลย ก็นับว่าทำเวลาได้ดีทีเดียว

ขอบคุณภาพจาก https://www.sportstats.asia
รวมเวลา 1:37:09 ชม.
ครบรอบ 1 ปีกับไตรกีฬางานเดียวกัน รู้สึกว่าตัวเองดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งความมั่นใจและการทำเวลา สำหรับระยะ Sprint ที่เป็นการออกกำลังเรื่อย ๆ 3 อย่างในเวลาไม่เกิน 2 ชม. แบบนี้ น่าจะเป็นการออกกำลังของผู้สูงอายุที่ดีอย่างหนึ่งเลย เพราะได้ออกกำลังหลายอย่าง และไม่นานจนเกินไป

2019-04-01

ผ้าสารพัดประโยชน์ - Buff

เวลาไปวิ่งออกกำลัง บางคนสวมหมวก บางคนโพกผ้าสีสันสดใสเหมือนเป็นแฟชั่นคู่กับเสื้อผ้าและรองเท้าแนวนักกีฬา ผ้าโพกหัวหรือที่เรียกติดปากกันว่า ผ้าบัฟฟ์ ตามชื่อแบรนด์ยอดนิยม BUFF® [1] นำเข้าจากสเปน

แต่สำหรับผู้สูงวัยอย่างผม ไม่ใช่เรื่องแฟชั่น แต่เป็นความจำเป็น 

ตอนเริ่มซ้อมวิ่งใหม่ ๆ ผมก็ใส่หมวกแก๊ป cap หรือหมวกกอล์ฟ visor ที่มีปีกบังแดดบังลมด้านหน้าอยู่ได้ไม่กี่วัน แล้วก็มีปัญหาเหงื่อเข้าตา เรื่องใหญ่ของคนคิ้วบางและใส่แว่นตาอย่างผม ซึ่งความจริง ตอนวิ่งก็ไม่ลำบากนัก ยังพอเลิกแว่นขึ้นแล้วปาดเหงื่อออกได้

แต่พอถึงตอนปั่นจักรยาน ปัญหาเหงื่อเข้าตา แสบตา กลายเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทีเดียว เพราะเวลาใส่แว่นตาปั่นตอนแก่ มันต้องใช้สายรัดแว่นกับหัว กันไม่ให้แว่นตกดั้งจมูก แว่นโปรเกรสซีฟตามวัยจะได้ไม่เปลี่ยนโฟกัส ซึ่งจำเป็นมากเวลาก้มหน้าปั่น พอเหงื่อตกไหลเข้าตา มันขยับเลิกแว่นขึ้นเพื่อปาดเหงื่อแบบตอนวิ่งไม่ได้ เพราะติดสายรัด ถ้าจะเอานิ้วชอนลอดแว่นเข้าไปเช็ด จักรยานเป็นล้ม

เดือดร้อนสิครับ ..เดือดร้อนมาก

ผมถึงต้องหาผ้าบัฟฟ์มาใช้กับเขาบ้าง ผ้าบัฟฟ์ผืนแรก เรียกได้ว่า เป็นอุปกรณ์ประจำตัวชิ้นแรก ๆ ที่ลงทุนซื้อมาใช้เลยทีเดียว ของแท้ผืนนึงราคาไม่ต่ำกว่า 600 บาท แต่ถามว่า ..คุ้มมั้ย ก็ต้องตอบว่า ..คุ้มมากกกกก


ข้อดี
ซับเหงื่อได้ดี
เวลาพับหลายชั้นโพกหน้าผาก ช่วยซับเหงื่อที่ไหลมาจากผมและหน้าผากได้ดีเยี่ยม ซึ่งแบบนี้ สารพัดหมวกทำไม่ได้ หลังจากนั้น ผมไม่มีปัญหาเหงื่อไหลเข้าตาอีกเลย ทั้งตอนวิ่งและปั่น
บางและนุ่ม 
ผ้าต้องบางนุ่ม จึงจะพับหลายชั้นโพกหน้าผากได้โดยไม่รู้สึกรัดหัวเกินเหตุ แล้วยังใส่หมวกจักรยานซ้อนทับได้อีกชั้น ซึ่งถ้าเป็นผ้าขนหนูหรือผ้าอื่น จะยัดหมวกแทบไม่ลง
ซักได้ แห้งง่าย 
เรื่องซักได้ง่ายนี่จำเป็นมาก เพราะมันต้องโชกเหงื่อประจำ ถ้าซักไม่ได้หรือซักยากเหมือนหมวก ก็ต้องทนเหม็นสาบหรือโดนโยนทิ้งเร็ว นอกจากซักง่ายแล้ว ยังต้องแห้งเร็วด้วย จะได้ไม่อับชื้น ผมจึงมีผ้าบัฟฟ์ที่ซื้อมานี้แค่ผืนเดียว ซักใช้ได้ทุกวันมาจนครบปี ถึงค่อยมีผืนที่สอง ซึ่งผืนหลังนี้ชอบมาก ได้มาจากงานชมพู-ฟ้ารันนิ่ง สมทบทุนงานมุทิตาจิต เกษียณคุณครูของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ปี 2562 สีสันจัดจ้านดี made in Thailand แต่คุณสมบัติไม่เป็นรองของนอกผืนแรก
สารพัดประโยชน์ 
ผ้าผืนน้อยนี้ยังมีประโยชน์อื่นอืก เช่น เช็ดหน้า ปิดปากปิดจมูกเวลาเจอฝุ่นควัน พับได้หลายแบบกันแดดแทนหมวก [2][3] หรือแม้กระทั่งเป็นผ้าเช็ดมือคราวคับขัน เวลามือเลอะหลังซ่อมจักรยานกลางทาง

ข้อด้อย
สู้หมวกเรื่องบังแดดแยงตาไม่ได้ แล้วก็น่าจะเป็นเรื่องราคา ของแท้นำเข้าก็อาจจะแพงไปหน่อย


Links: