2021-01-13

วิ่งสมาธิ Running Meditation

วันนี้ผมเพิ่งกลับมาวิ่งในสนาม เพราะสนามแดง..สนามกีฬามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพิ่งเปิดให้บริการ หลังปิดไปช่วงหนึ่ง เพราะมีบุคลากรของมหาวิทยาลัยติดโควิด ผมเริ่มวิ่งตั้งแต่ยังไม่ห้าโมงเย็น ซึ่งคนในสนามไม่มาก วิ่งไปได้เกือบครึ่งชั่วโมงแล้วก็เกิดอาการที่ทำให้ต้องมาเขียนบันทึกนี้ ..ผมเห็นลู่วิ่งตรงหน้ามันขยายใหญ่ขึ้น เห็นรายละเอียดชัดขึ้นกว่าด้านข้าง อาการนี้ผมเคยเป็นมาแล้วครั้งหนึ่ง นี่เป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกนั้นเป็นสมัยบวชอยู่สวนโมกข์ ตอนเดินบิณฑบาตตามหลังหลวงพี่หัวหน้าสาย ที่แนะนำให้เดินแบบ..นวยนาด

นวยนาด ในความหมายว่า เนิบช้า ปล่อยให้อวัยวะในร่างกายเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ ไม่เร่งรีบ





ผมเป็นคนทำสมาธิอยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ แต่จะทำได้ดีถ้าเคลื่อนไหว เช่น ตามการขยับอวัยวะ เดินจงกรม และทำสมาธิตอนว่ายน้ำมาหลายปี ยิ่งถ้าไปว่ายช่วงที่สระไม่มีคนเลย มันทั้งผ่อนคลายทั้งสดชื่นไม่เหนื่อย แต่ก็ไม่คิดและไม่เชื่อมาก่อนว่า จะทำสมาธิตอนวิ่งได้  ..ก็มันเหนื่อยและใช้แรงมากกว่าว่ายน้ำ ควบคุมหรือจดจ่อกับลมหายใจยาก จึงไม่คิดจะลองดู เอาแค่วิ่งให้รอดก่อน 

จนปีนี้ ทั้งเรื่องโควิดและข่าวนักวิ่งเสียชีวิต ทำให้ผมหันมา 'ฟังร่างกาย' ตัวเองมากขึ้น เปลี่ยนท่าวิ่งเป็นก้าวสั้น ไม่เร่ง และเริ่มคุ้นชิน จนรู้จังหวะลมหายใจของตัวเอง แล้วกำหนดให้เป็น หายใจเข้า-ออก 1 รอบ ตามจังหวะก้าวขา ซ้าย-ขวา-ซ้าย-ขวา รวม 4 ก้าว แล้วตามจังหวะนี้ไปเรื่อย ๆ ปล่อยให้ร่างกายเคลื่อนไหวตามธรรมชาติ แค่รับรู้และเฝ้าติดตามมันเท่านั้น สายตามองพื้นประมาณ 5-10 ก้าวข้างหน้า ซึ่งไกลกว่าตอนเดินบิณฑบาต ด้วยวิธีวิ่งแบบนี้ ทำให้วิ่งได้ดีขึ้น เหนื่อยน้อยลง ได้ระยะมากขึ้น และบาดเจ็บน้อยลงด้วย บางครั้งวิ่งเพลินจนลืมระยะลืมเวลาเลย แถมระยะหลัง ผมเลิกใส่แว่นตาวิ่ง ยิ่งทำให้เรามองไกลไม่เห็น ความจดจ่อกับพื้นตรงหน้าจึงทำได้ง่ายขึ้น

วันนี้ก็เป็นอย่างนั้น วิ่งเพลินไปเรื่อยจนเกิดอาการแบบที่เล่าข้างบน แล้วรู้สึกกังวล ไม่เหมือนคราวก่อนที่รู้สึกเป็นปิติเวลาที่เราเข้าถึงสมาธิอย่างสมถะ ความกังวลเลยทำให้ไม่กล้าวิ่งแบบนั้นต่อ เพราะมันเหมือนเราจดจ่อเป็นสมาธิกับการวิ่ง จนรับรู้สิ่งรอบตัวน้อยลง แล้วก็กลัวว่า นี่เป็นอาการผิดปกติอะไรหรือเปล่า ตอนนั้นผมเลยปรับก้าวช้าลง แล้วสังเกตอาการตัวเอง ยกนาฬิกาขึ้นมาดู ชีพจร 152 ก็ธรรมดา เลยยังวิ่งต่อไปจนจบ



ถึงบ้าน รีบเอากราฟการวิ่งวันนี้ตามรูปข้างบนมาดู อยากรู้ว่าชีพจรก่อนหน้าเกิดอาการเป็นอย่างไร ผมจำได้ว่า ช่วงนั้นผมเพิ่งผ่านระยะ 5 กม.ไป น่าจะประมาณช่วงที่ลากเส้นแนวดิ่งสีดำ เพราะพอผมรู้สึกแบบนั้น ผมก็เปลี่ยนมาเป็นก้าวยาว รอบขาหรือ run cadence ที่เป็นจุดสีส้มจึงลดลง จะเห็นได้ว่า ช่วงก่อนหน้านั้น ชีพจรผม (พื้นที่เทาทึบ) ไม่ผิดปกติอะไรเลย ค่อนข้างสม่ำเสมอประมาณ 145-150 เท่านั้นเอง จึงตัดปัญหาเรื่องหัวใจไป

พอเห็นกราฟข้างบนแล้ว ก็อยากรู้ต่อว่า วิ่งแบบนี้ต่างจากวิ่งแบบเดิมที่เคยวิ่งหรือเปล่า ก็ลองไปหากราฟการวิ่งช่วงปลายปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ผมซ้อมไป [Ironman70.3 Bangsaen] เลือกที่ระยะวิ่งใกล้เคียงกัน ทำเวลาได้ใกล้เคียงกันมาดู ตามกราฟข้างล่าง 

เห็นความแตกต่างลักษณะการวิ่งของผมชัดเจน 

- ความเร็ว (เส้นสีฟ้า) กราฟล่าง = แต่ก่อน ผมจะวิ่งเร่งฝีเท้าในช่วงแรก แต่หลังจากนั้น ความเร็วจะตกลงต่อเนื่อง แตกต่างจากกราฟบน = ตอนนี้ ซึ่งจะเห็นว่า เส้นสีฟ้าค่อนข้างคงที่

- ชีพจร (พื้นที่เทาทึบ) กราฟล่าง = แต่ก่อน มันจะขึ้น ๆ ลง ๆ มียอดแหลมหลายครั้ง ขึ้นไปพ้น 160 ก็มี แต่กราฟบน = ตอนนี้ กราฟสม่ำเสมอกว่ามาก

ผมจึงกล้าฟันธงว่า ช่วงที่ผมเกิดอาการนั้น หัวใจผมปกติ 



การวิ่งสมาธิโดยสรุป

ข้อดี

-  ฟังเสียงร่างกาย

การวิ่งช้าลง จนจับจังหวะของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น ลมหายใจ การเต้นของหัวใจ ช่วงแกว่งแขน ฝีเท้าที่สัมผัสพื้น ช่วยให้เรารับรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้ดีขึ้น และเมื่อมีอะไรผิดปกติ น่าจะรู้ตัวได้เร็วกว่า  

-  ดีต่อใจ

ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสม่ำเสมอ ไม่แกว่งขึ้นลงรวดเร็ว ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่เหนื่อยไม่เครียด

-  วิ่งดีขึ้น

เพราะรับรู้ร่างกาย จึงจับท่าวิ่งได้ดีขึ้น เช่น เท้าบิดเข้าในออกนอก ตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง แกว่งแขนสองข้างไม่เท่ากัน ก็สามารถปรับแก้ ให้วิ่งได้ดีขึ้น

ข้อควรระวัง

- รับรู้รอบตัวน้อยลง

อย่างที่ผมเป็น เพราะสมาธิจดจ่อ เราจะสนใจสิ่งรอบข้างน้อยลง จึงไม่ควรวิ่งแบบนี้ในที่ ๆ มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เช่น ข้างถนน สนามที่มีคนมาก ๆ หรืองานแข่งขัน เพราะอาจชน หรือไปขวางทางนักวิ่งคนอื่นได้

- เสียเพื่อน

เพราะสนใจสิ่งรอบข้างน้อยลง เพื่อนทักก็ไม่รู้ ก็อาจจะโดนข้อหา หยิ่ง..ไม่สนเพื่อน อันนี้ผมมีวิธีแก้ คือ ตอนเริ่มวิ่ง ก็ทักทายคนรู้จักให้ทั่วเสียก่อน เปลี่ยนสถานที่วิ่ง หรือไปวิ่งช่วงเวลาที่ไม่ค่อยมีคน